วันนี้ (17 ม.ค.66) สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุถึงจำนวนประชากรของจีนในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,411 ล้านคน
ถึงแม้จะดูเป็นจำนวนที่สูง แต่ในรายละเอียดกลับสวนทาง เพราะอัตราการเกิดของประชากรจีนในปี พ.ศ.2565 อยู่ที่เพียง 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งลดลงจากในปี พ.ศ.2564 ที่อยู่ที่ 7.52 นับเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 60 ปี เมื่อนับจากปี พ.ศ.2504 ในปีนั้นมีอัตราการเกิดที่น้อยมาก แต่เกิดจากภาวะความอดอยากครั้งใหญ่ในจีน
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติมองว่าในระยะยาวจำนวนประชากรของจีนจะลดลงอีก 109 ล้านคน ภายในปี พ.ศ.2593
นั่นทำให้ ยี่ ฝูเซียน นักประชากรศาสตร์ในประเทศจีนกังวลว่าจีนจะ "แก่ก่อนรวย" เพราะเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เนื่องจากรายได้ลดลงและหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่ากำลังแรงงานที่ลดลงของประเทศจะทำให้กำลังการผลิตลดลง ต้นทุนสินค้าจะสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงเหมือนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
แนวโน้มทางประชากรและเศรษฐกิจของจีนดูมืดมนกว่าที่คาดไว้มาก
จีนจะต้องปรับนโยบายทางสังคม เศรษฐกิจ การป้องกันประเทศ และการต่างประเทศ
ในทางกลับกัน คัง ยี หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าประชาชนไม่ควรกังวลเกี่ยวกับการลดลงของจำนวนประชากร เนื่องจาก
อุปทานตลาดแรงงานโดยรวมยังเกินความต้องการ
ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียว
อัตราการเกิดที่ลดลงจนน่าเป็นห่วงของจีนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ.2523-2558 และยังรวมถึงค่าเล่าเรียนการศึกษาที่สูง เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเลิกมีลูกมากกว่า 1 คน หรือแม้แต่มีลูกเลยด้วยซ้ำ
ข้อมูลนี้ติดเทรนด์ยอดนิยมบนโซเชียลมีเดียของจีน หลังจากเรื่องประชากรจีนกำลังลดลงถูกเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยแฮชแท็ก #Is it really important to have offspring?" หรือ #การมีลูกสำคัญจริงหรือ? โดยมียอดเข้าชมหลายร้อยล้านครั้ง โดยชาวเน็ตคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า
สาเหตุพื้นฐานที่ผู้หญิงไม่ต้องการมีลูก ไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง
แต่อยู่ที่ความล้มเหลวของสังคมและผู้ชายที่ไม่มีวุฒิภาวะเลี้ยงดูผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
ทำให้ผู้หญิงคิดว่า การมีลูกจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาตกต่ำลงอย่างมาก
ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากร กล่าวว่านโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวดของจีนที่ใช้มาเป็นเวลา 3 ปี ก็สร้างความเสียหายเพิ่มเติมในมิติเชิงประชากร ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 รัฐบาลท้องถิ่นต้องออกมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น รวมถึงการลดหย่อนภาษี การลาคลอดที่นานขึ้น การอุดหนุนที่อยู่อาศัย เป็นนโยบายเสริม
อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น
ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งแนวโน้มอัตราการเกิดที่ลดลงของประชากรจีนในระยะยาวได้
อินเดียเตรียมขึ้นประชากรเยอะที่สุดในโลก
ข้อมูลการค้นหารถเข็นเด็กออนไลน์บนเว็บไซต์ Baidu ของจีน
ลดลงถึงร้อยละ 17 ในปี 2565
และลดลงร้อยละ 41 ตั้งแต่ปี 2561
ขณะที่การค้นหาขวดนมเด็กก็ลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ตั้งแต่ปี 2561
ในทางกลับกัน การค้นหาสถานดูแลผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะที่ Google Trends ของอินเดียแสดงผลการค้นหาขวดนมเด็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
และการค้นหาเปลเด็กก็เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าในปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสหประชาชาติว่า
อินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลกในปี 2566 นี้
ที่มา : Reuters