"ปะการัง" คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีความเปราะบางต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากปะการังนั้นได้รับสารอาหารส่วนใหญ่มาจาก "สาหร่ายซูแซนเทลลี" (Zooxanthellae) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สามารถสังเคราะห์แสงได้คล้ายกับพืช ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังอีกทีหนึ่ง ได้พากันอพยพออกไปจากปะการังเมื่อน้ำทะเลเริ่มอุ่นขึ้นกว่าปกติ
การจากไปของสาหร่ายซูแซนเทลลีนี้ จึงส่งผลให้ปะการังกลายเป็นสีขาว ขาดแคลนแหล่งอาหาร และมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อได้ง่าย ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะแนวปะการัง "เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ" (Great Barrier Reef) ในชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังนี้เป็นที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เกิดการฟอกขาวมาแล้วถึง 6 ครั้งด้วยกัน
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะอยู่เฉย และปล่อยให้แนวปะการังสุดล้ำค่านี้หายไป เนื่องจากแนวปะการังเป็นปราการที่ช่วยลดผลกระทบของคลื่นลมทะเลที่รุนแรงต่อชายฝั่งได้ แถมยังเป็นสถานที่ที่สัตว์น้ำสายพันธุ์ต่าง ๆ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงดูตัวอ่อนอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น เราก็ไม่อาจหยุดยั้งวิกฤตภาวะโลกร้อนได้โดยเร็ววันอยู่ดี ทำให้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Sciences) ได้พยายามหาหนทางสำรองที่จะรักษาปะการังให้อยู่รอดปลอดภัยไปยังอนาคตได้ นั่นก็คือการแช่แข็งตัวอ่อนของปะการังไว้ เผื่อว่าสักวันหนึ่งอุณหภูมิของโลกจะกลับมาอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมอีกครั้ง
โดยกระบวนการแช่แข็งปะการังที่มีชื่อเรียกว่า "ไครโอเมช" (cryomesh) จะเก็บตัวอ่อนของปะการังไว้ในอุณหภูมิติดลบ 196 องศาเซลเซียส ซึ่งได้รับการทดสอบมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการเก็บรักษาแนวปะการังที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยตัวอ่อนของสายพันธุ์ปะการังที่อยู่อาศัยในเกรตแบร์ริเออร์รีฟนั้น มักมีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่าที่รัฐฮาวายเป็นอย่างมากจึงทำให้ยากต่อการเก็บรักษา ในท้ายที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จในการแช่แข็งตัวอ่อนปะการังเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล: Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech