ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดีเดย์ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เปิดให้บริการ 19 ม.ค.นี้

เศรษฐกิจ
4 ม.ค. 66
07:28
939
Logo Thai PBS
ดีเดย์ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เปิดให้บริการ 19 ม.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นับถอยหลังอีกเพียง 2 สัปดาห์ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก็จะเริ่มเปิดให้บริการสำหรับผู้โดยสารรถไฟของ รฟท.ในบางเส้นทาง ซึ่งนอกจากจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมากโดยไม่แออัดแล้ว ยังอาจช่วยทำให้การเดินรถตรงเวลาและปลอดภัยมากขึ้น

กลายเป็นภาพจำของใครหลายคน ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อเดิม ในการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้วยความใหญ่โต จึงทำให้สามารถรองรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้หลายพันคนต่อวัน โดยที่นี่มีการฉีดวัคซีนไปกว่า 6.3 ล้านโดส ก่อนจะปิดศูนย์ลงในช่วงปลายเดือน ก.ย.2565

ล่าสุด ที่นี่กำลังจะได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์หลัก หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ และอีสาน 52 ขบวน มาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่ 19 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป

ในวันที่ 19 ม.ค.จะเปิดเดินขบวนรถไฟ "เที่ยวปฐมฤกษ์" ในเวลา 13.19 นาที เป็นขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศเพื่อการท่องเที่ยว ต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปลายทางสถานีอยุธยา ส่วนขบวนรถโดยสารเที่ยวแรก คือขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก

นอกจากนี้ ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีดอนเมือง ซึ่งจะไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งระดับพื้นดิน

ทั้งหมดนี้ จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดได้เป็นอย่างดี ขบวนรถไฟสามารถเดินตรงตามเวลาได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่านจุดตัดทางรถไฟกับรถยนต์ ขบวนรถที่ต้องเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่มีกว่า 100 ขบวน ก็จะลดลงและสามารถลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพได้

สำหรับขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ที่จะเปลี่ยนสถานีต้นทาง - ปลายทาง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน สายใต้ 20 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ตามกราฟิกของ รฟท.ที่เห็นอยู่นี้

ส่วนกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิมตั้งแต่ กรุงเทพ สามเสน ชุมทางบางซื่อ และจะขึ้นทางยกระดับเดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยกเว้นขบวนรถธรรมดา ส่วนชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง