เมื่อเกิดเหตุเรืออับปางกลางทะเล หลายครั้งพบว่ามีการใช้คำเรียกแตกต่างกันไปทั้ง อับปาง-จม-ล่ม ไทยพีบีเอสออนไลน์ค้นข้อมูลจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมาย ดังนี้
"อับปาง" เป็นคำกริยา หมายถึง ล่ม, จม, แตก, (ใช้แก่เรือเดินทะเล)
"ล่ม" เป็นคำกริยา มี 3 ความหมาย ได้แก่
(1) ก. กิริยาที่ทรงตัวไม่อยู่ เอียงจนตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น เรือล่ม เกวียนล่ม, ทำให้ตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น ล่มเรือ
(2) ก. ได้รับความเสียหายมากเพราะน้ำท่วมหรือพายุพัดเป็นต้น เช่น นาล่ม สวนล่ม โป๊ะล่ม
(3) ก. ไม่สำเร็จ, ไม่รอดฝั่ง, เช่น โครงการล่ม
"จม" เป็นทั้งคำกริยาและคำวิเศษณ์ มี 3 ความหมาย ได้แก่
(1) ก. หายลงไปหรืออยู่ใต้ผิวพื้น เช่น จมนํ้า จมดิน, โดยปริยายหมายความว่า เข้าลึก เช่น จมมีด จมเขี้ยว, หมกตัวหรือฝังตัวอยู่ เช่น จมอยู่ในห้องหนังสือ จมเลือด, ถอนทุนไม่ขึ้น เช่น ทุนจม, ยุบตัวลง เช่น สะบักจม
(2) ก. ใช้เรียกลวดลายที่ไม่เด่น ว่า ลายจม
(3) ว. มาก เช่น วันนี้มีการบ้านจมเลย
สำหรับคำว่า "ล่ม" และ "อับปาง" เป็นคำกริยาที่ใช้กับพาหนะที่แล่นไปในน้ำหรืออยู่ในน้ำ แปลว่า จม หรืออยู่ในสภาพทรุดเอียง ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ เช่น เรือล่ม, แพล่ม, โป๊ะล่ม
คำว่า "ล่ม" ใช้กับเรือขนาดเล็กโดยทั่วไปจนถึงเรือขนาดกลาง รวมทั้งแพด้วย ส่วนคำว่า "อับปาง" ใช้กับเรือเดินทะเลเท่านั้น
คำว่า "ล่ม" และ "อับปาง" ยังใช้ในความหมายเปรียบเทียบ หมายถึง ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เช่น ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้กิจการค้าของเขาล่ม เขาคิดว่าเขาร้องเพลงได้ แต่พอขึ้นเวทีก็ประหม่า จึงล่มเสียกลางคัน เจอมรสุมหนักคราวนี้ สงสัยว่าชีวิตคู่ของเขาทั้งสองคงจะต้องอับปางลงอย่างแน่นอน
ที่มา : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 / บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 5 ต.ค.2550