วันนี้ (23 ม.ค.2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 104 ว่าด้วยการปฏิเสธการรับขนผู้โดยสาร จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ก.พ.นี้
โดยจำกัดให้สายการบินของไทยและต่างประเทศ (ผู้ขนส่ง) สามารถปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
- ผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ไม่ได้แจ้งขอรับบริการช่วยเหลือพิเศษล่วงหน้าภายในกำหนดเวลาที่ผู้ขนส่งแต่ละรายกำหนด และผู้ขนส่งนั้นได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด
ในการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับผู้โดยสารนั้นแล้ว แต่ไม่สามารถจัดเตรียมบริการเช่นว่านั้นได้
- ผู้โดยสารนั้นไม่สามารถแสดงเอกสารการเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่สามารถใช้ระบุตัวตน หรือเอกสารที่ใช้ในการผ่านแดนหรือการเข้าเมืองต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้
- ผู้โดยสารที่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทางหรือประเทศที่เป็นจุดแวะพักแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศหรือแวะพัก
- ผู้โดยสารที่เป็นทารกแรกเกิดอายุต่ำกว่า 14 วัน
- ผู้โดยสารอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เดินทางโดยลำพัง
- ผู้โดยสารที่มีอายุครรภ์เกินที่กำหนดในเงื่อนไขในการขนส่งของผู้ขนส่งแต่ละราย
นอกจากนี้ ผู้ขนส่งมีสิทธิปฏิเสธการรับขนผู้โดยสาร สัมภาระ และของที่ผู้โดยสารไม่ยินยอมให้ตรวจค้นหรือไม่ผ่านการตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการปฏิเสธการรับขนด้วยเหตุความปลอดภัยและ
การรักษาความปลอดภัย
โดยเป็นไปตามพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 41/133 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย
อ่านข่าว
สคบ.เตรียมหารือ 5 หน่วยงาน ร่วมเฝ้าระวัง แอปฯ Jagat