ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สมรสเท่าเทียม" เปิดประตูคู่รัก สิทธิมรดก-การยินยอมทางการแพทย์

สังคม
23 ม.ค. 68
08:00
217
Logo Thai PBS
"สมรสเท่าเทียม" เปิดประตูคู่รัก สิทธิมรดก-การยินยอมทางการแพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่คู่รักหลากเพศหลายคู่เฝ้ารอมายาวนาน บางคู่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน สร้างอาชีพ และมีทรัพย์สินร่วมกัน กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันสิทธิเท่าเทียมทางกฎหมาย ที่สะท้อนถึงการยอมรับความหลากหลายในสังคม

วันนี้ (23 ม.ค.2568) "ตั้งใจชงกาแฟให้ได้รสชาติดีที่สุด ใส่ใจในทุกรายละเอียดของลูกค้า" เป็นนิยามของร้านแสนรักกาแฟ ใน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ ต้อ-นนทวัฒน์ เจริญเกษรสิน และ ไวกิ้ง-ธนากร สิทธิ์เทียมทอง ช่วยกันสร้างมา กว่า 14 ปี หลังตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

กาแฟเป็นจุดเริ่มต้นทำให้รู้จักกัน เพราะเพื่อนสนิทแนะนำให้เปิดร้านกาแฟ จนกลายเป็นความชอบ เป็นอาชีพที่รัก เป็นความสุขที่ทั้งคู่ได้สร้างทรัพย์สินร่วมกัน ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็น

นนทวัฒน์เล่าว่า ความเป็นตัวเองของพวกเขาทั้งคู่ไม่เคยถูกปิดกั้นมาตั้งแต่แรก ก็เลยมีความรู้สึกว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีความสุข อยากให้ทุกสิ่งที่ทำมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเที่ยว การกิน การอยู่ ก็อยากให้ชีวิตมีความสุขแบบนี้ โดยที่ไม่มีอะไรมาทำให้ไม่สบายใจ 

ส่วนธนากรกล่าวว่า เข้าใจสภาพเพศของตัวเองมาตั้งแต่เกิด รู้ความต้องการของตัวเอง จึงทำให้ครอบครัวเข้าใจและไม่เคยมีข้อจำกัดและเปิดใจ

กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ทั้งคู่เฝ้ารอมานาน เพราะทราบดีว่า แม้ใช้ชีวิตคู่มามากกว่า 10 ปี แต่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ทั้งสิทธิในมรดก สิทธิในการให้ความยินยอม ด้านการรักษาพยาบาล

สิ่งที่สร้างมาด้วยกัน เช่น รถ ธุรกิจ หรือเงินที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน มันไม่สามารถโอนให้กันได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอะไรไป ถ้ายังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้ามารองรับ พวกเราก็จะเสียเปรียบในข้อนี้ อีกเรื่องคือ การดูแลเรื่องสุขภาพ การเซ็นยินยอมแทนกันได้ เมื่อมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้ามา ก็รู้สึกว่ามีอะไรมารองรับ ทำให้อุ่นใจ รู้สึกเท่าเทียม ไม่ได้แตกต่างไปจากคู่ชายหญิงทั่ว ๆ ไป คู่รักเจ้าของร้านกาแฟกล่าวไว้

ตั้งใจจะไปจดทะเบียนสมรสกันในวันที่ 14 ก.พ.2568
เพราะเป็นวันที่มีความหมาย ให้เป็นที่บันทึกและจดจำของคู่เราทั้ง 2 ด้วย 

ความเข้าใจในสังคมที่หลากหลาย และยอมรับในความหลากหลายนั้น เพื่อให้พวกเค้าได้แสดงตัวตนได้อย่างภาคภูมิใจและปลอดภัย เป็นสิ่งที่คู่รักเพศหลากหลายเฝ้ารอคอยมานาน เพื่อให้พวกเค้ามีสิทธิเท่าเทียมทางกฎหมายที่แท้จริง จนมาถึงวันนี้ วันที่ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศแรกในอาเซียน

อ่านข่าวอื่น :

DSI ตั้งสืบคดี "แตงโม" มีผู้ยื่นคำร้องอ้างบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม

เปิดกำหนดการ งานสมรสเท่าเทียม ครั้งแรกของไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง