ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องราวของ "แสนหวาน" ลูกช้างตาบอดจากสารเคมี

สิ่งแวดล้อม
12 ธ.ค. 65
10:35
2,631
Logo Thai PBS
เรื่องราวของ "แสนหวาน" ลูกช้างตาบอดจากสารเคมี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"แสนหวาน" ช้างตัวเมีย อายุ 3 ปี ตาบอดทั้ง 2 ข้าง ความมืดมิดที่ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด ลูกช้างถูกสารเคมีการเกษตรจนเจ้าของต้องประกาศขาย ก่อนพระครูอ๊อด ไถ่ชีวิตมาดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง หวังให้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข
เขาอายุยังน้อย แค่ 3 ขวบ แต่ตาบอด น่าสงสารมาก

พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน หรือพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ บอกเล่าเรื่องราวของ "แสนหวาน" ช้างตัวเมีย อายุ 3 ปี ต้องเผชิญความมืดมิด ดวงตาบอดสนิททั้งสองข้างจากพิษสารเคมีทางการเกษตร

จากลูกช้างที่ใช้ความสดใส น่ารัก คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวในปางช้าง แต่ช่วง COVID-19 ไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้หดหาย เจ้าของอายุ 71 ปี ตัดสินใจพาแสนหวานกลับมาอยู่บ้านในพื้นที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และนำแสนหวานไปเลี้ยงในพื้นที่การเกษตรติดชายป่า

วันหนึ่งลูกช้างเอางวงไปแตะถังสารเคมีการเกษตร ก่อนถูกดวงตา แรก ๆ เกิดอาการน้ำตาไหลและฝ้า เจ้าของใช้เหล้าขาวพ่นใส่ตาเพื่อรักษา แต่อาการอักเสบรุนแรง กระทั่งแสนหวานถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย แต่ไม่ทันการ ลูกช้างตาบอดสนิททั้ง 2 ข้าง เมื่อเจ้าของต้องรับรู้ถึงชะตากรรมลูกช้าง ก็รู้สึกทุกข์ใจและท้อแท้ จึงจำยอมประกาศขายลูกช้าง

หมอรักษาอย่างสุดกำลัง แต่ส่งมาช้าไป ทำให้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง

พระครูอ๊อดได้ฟังเรื่องราวของแสนหวาน พร้อมปรึกษาทีมสัตวแพทย์ที่รู้สึกเป็นห่วงและกังวลความเรื่องความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของลูกช้าง หากนำกลับไปเลี้ยงที่เดิมก็มีความเสี่ยงอันตราย อาจตกเขา หรืออดอยาก นำมาสู่การบอกบุญญาติโยม ขอซื้อลูกช้างแสนหวานด้วยเงิน 450,000 บาท และดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โดยมีเหตุผล 3 อย่าง คือ สภาพที่อยู่ ช้างไม่ต้องเร่ร่อน, อาหารเหมาะสมเพียงพอ และสุขภาพ เพราะมีสัตวแพทย์คอยดูแลรักษาช้างทุกเชือก

แม้จะอธิบายความรู้สึกออกมาได้ยาก แต่พระครูอ๊อดเล่าความประทับใจแรกที่ได้เจอแสนหวาน ว่า 

ช้างเชือกนี้ค่อนข้างน่ารัก บุคลิกเรียบร้อย นิ่มนวล อ่อนโยน ลูกช้างใช้หูแทนดวงตาที่มองไม่เห็น ใช้งวงดมตั้งแต่เท้าจนมาถึงหัว

พระครูอ๊อดชื่นชมทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้าง ที่พยายามผ่าตัดและรักษาแสนหวานอย่างเต็มกำลัง และอยากให้อยู่ใกล้หมอ อย่างน้อยก็มีอาหารกิน ไม่ต้องเร่ร่อน เชื่อว่าจะอายุยืนตามอายุขัย

ทุกวันนี้ พระครูอ๊อดยังแวะมาเยี่ยมเยียนช้างที่ไถ่ชีวิตมาดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย รวมทั้ง "แสนหวาน" ช้างเชือกที่ 7 จากจำนวน 10 เชือก พร้อมนำอาหารมามอบให้ช้าง 2-3 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งให้กำลังใจควาญ หัวใจสำคัญของการดูแลช้าง

ขณะที่ สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ หัวหน้างานโรงพยาบาลช้างลำปาง เล่าถึงความพยายามในการรักษาแสนหวาน ว่า ช่วงแรกตาทั้ง 2 ข้างติดเชื้อค่อนข้างหนัก จึงรักษาด้วยการให้ยาและผ่าตัดเอาเยื่อตาส่วนอื่นมาปิดแผลไว้ ถือเป็นการผ่าตัดครั้งแรกของโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะช้างมีหนังตาที่แข็งแรงกว่าสัตว์ชนิดอื่น เมื่อกระพริบตาแล้วหนังตาถูไหมจนขาดในช่วงการรักษาวันที่ 2 จนแผลแตกและปะทุ โดยใช้เวลารักษานาน 3 เดือน

ตัดสินใจผ่าตัด เพราะติดเชื้อในตาทั้ง 2 ข้าง เริ่มมองไม่เห็น และมีโอกาสตาบอดสูงมาก ด้วยความที่ช้างยังเด็กและต้องใช้ชีวิตอีกยาวนาน

ในความโชคร้ายของ “แสนหวาน” ยังมีความโชคดี ที่ได้รับการดูแลเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ ทดแทนความมืดมิดจากดวงตาที่บอดสนิท 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดภารกิจ "ช้าง" ทีมหมอศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย 

เปิดโลกชีวิต "ควาญ-ช้างคู่หู" สถาบันคชบาลฯ ลำปาง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง