ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภารกิจ รพ.ช้างลำปาง บ้านอบอุ่นของช้างป่วย-ชรา

สิ่งแวดล้อม
4 ธ.ค. 65
19:36
1,136
Logo Thai PBS
เปิดภารกิจ รพ.ช้างลำปาง บ้านอบอุ่นของช้างป่วย-ชรา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีการคาดการณ์ว่าเดือน ก.พ.2566 "พลายศักดิ์สุรินทร์" ช้างที่บาดเจ็บจากศรีลังกา จะถูกส่งกลับมารักษาที่ประเทศไทย โดยคาดว่าโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง จะเป็นผู้ดูแล

ปัจจุบันโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ให้การรักษา "พลายโด้" ช้างชราอายุ 59 ปี

ระหว่างที่สัตวแพทย์กำลังทำความสะอาดแผลบริเวณขาหน้าด้านซ้ายที่เป็นฝี มีหนอง และแผลถลอกบริเวณขาหลังขวา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควาญช้างจะช่วยสื่อสารกับพลายโด้ในลักษณะปลอบประโลม ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ช่วยให้การรักษาราบรื่นขึ้น

แม้จะเจ็บปวดทางกาย แต่พลายโด้กลับยืนนิ่ง ๆ ส่งเสียงร้องเบา ๆ เป็นบางครั้ง แต่ไม่แสดงอาการฉุนเฉียว

ไม่เพียงแค่พลายโด้ที่ได้รับการดูแลในบั้นปลายชีวิตเป็นอย่างดีทั้งจากควาญช้างและสัตวแพทย์ แต่ยังมี "แสนหวาน" ลูกช้างอายุ 3 ปี 9 เดือนที่ตาบอดทั้ง 2 ข้างจากอาการติดเชื้อ หลังถูกสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า

รวมถึงยายดาวเรือง ช้างชราอายุ 70 ปี ก็อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแห่งนี้เช่นกัน

นายอำนาจ พุฒลา ควาญช้างที่ดูแลยายดาวเรืองมากว่า 1 ปี กล่าวว่า นอกจากการดูแลเรื่องความสะอาดของคอกและพาไปอาบน้ำ ยังต้องบดกล้วยให้กับยายดาวเรืองกิน เพราะเหมือนคนแก่ที่กินอาหารแข็งไม่ได้

นิสัยดื้อหน่อยๆ ขอแต่ของกิน เพราะยายแก่แล้ว กินของแข็งไม่ได้ กินได้แต่กล้วย อาหารโม่ แต่ยายแข็งแรง ตอนนี้ต้องลดน้ำหนัก เพราะขาไม่ค่อยดี

สถานที่แห่งนี้คาดว่าจะถูกใช้รองรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ช้างตัวผู้อายุ 30 ปีจากศรีลังกา ที่มีอาการบาดเจ็บจากการล่ามโซ่และขาหน้าพิการ มีฝีหนองที่สะโพกทั้ง 2 ข้าง หากเป็นตามแผนในเดือน ก.พ.2566 จะเดินทางกลับจากศรีลังกา มาให้ทีมสัตวแพทย์ดูแลรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่วว่า ที่นี่จะเลี้ยงช้างแบบกึ่งธรรมชาติ มีพื้นที่เดินเล่น ออกกำลังกายในป่าธรรมชาติ ส่วนฝีเรื้อรังของพลายศักดิ์สุริทร์อาจไม่หายเป็นปกติ เพราะกลายเป็นเนื้อตายบางส่วน

การรักษาขาอาจกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ฝังเข็ม ใช้เลเซอร์ ซึ่งเทคโนโลยีของไทยค่อนข้างดีและมีความพร้อม สามารถระดมทีมสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ มาช่วยรักษา

ไทยเหมาะสมในการรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างกึ่งธรรมชาติ จริงๆ การเจ็บป่วยเป็นประเด็นรอง สภาพแวดล้อมหรือสุขภาพจิตช้างอยู่ในสถานที่แคบ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับช้าง ไม่มีป่าธรรมชาติให้เดิน ซึ่งเป็นการเยียวยาทางด้านจิตใจ เรามองตรงนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มองว่า ฝีและขาที่งอไม่ได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อถูกปล่อยให้ป่วยเรื้อรัง จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่พลายศักดิ์สุรินทร์จะกลับมาเดินได้เหมือนเดิม 100% แต่เชื่อว่าหากถูกส่งกลับมารักษาในไทยก็น่าจะมีพัฒนาการที่ดีกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดแนวทางรักษา "พลายศักดิ์สุรินทร์" ฟื้นจิตใจบั้นปลายในไทย

เปิดใจ ควาญช้างไทย เจ้าของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” บินไปดูแลถึงศรีลังกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง