เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.2565 ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอินโดนีเซีย ในการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ปธน.โจ ไบเดน และ ปธน.สี จิ้นผิง ได้พบกันเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากครั้งล่าสุดเจอกันที่เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการประชุม World Economic Forum ซึ่งในขณะนั้น โจ ไบเดน รับตำแหน่งรอง ปธน.
เรียกได้ว่าเป็นการพบกันในแบบที่อบอุ่นผิดคาด ผิดจากบรรยากาศการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศในหลายวงประชุมก่อนหน้านี้ โดย โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ ทักทายด้วยคำพูด "Good to see you!" หรือ "ดีใจที่ได้เจอ!" พร้อมหยอดคำหวานและยกให้สี จิ้นผิง ปธน.จีน ว่าเป็นผู้นำประเทศที่ตนรู้จัก เข้าใจและได้ใช้เวลาด้วยกันมากที่สุด
การหารือของ สี และ ไบเดน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ทั้งคู่ได้พูดถึงมุมมองของตนเองที่มีต่อความคาดหวังของโลกใบนี้ โดย สี มองว่า โลกกำลังเดินมาสู่ทางแยกและโลกคงอยากจะเห็นจีนและสหรัฐฯ จัดการความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งสองประเทศที่จะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ขณะที่ ไบเดน กล่าวว่าโลกน่าจะอยากให้จีนและสหรัฐฯ ร่วมมือกันในการจัดการกับความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาหาร ไปจนถึงความมั่นคง
แต่ถึงแม้ว่ามุมมองต่อโลกของ สี และ ไบเดน จะคล้ายกัน แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีหลายประเด็นที่จีนและสหรัฐฯ เห็นต่าง หรืออาจไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ไต้หวัน-ชนวนความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลง
ไต้หวัน เป็นชนวนเหตุให้ความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจโลกยิ่งเลวร้าย โดยเฉพาะหลังการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลอดการหารือ 3 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ อาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้บรรยากาศในการประชุมตึงเครียดมากที่สุด
เพราะ จีน ย้ำชัดเจนอีกครั้งว่าไต้หวันเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญที่สุดของจีนและแตะต้องไม่ได้ หากสหรัฐฯ จะยังคงความสัมพันธ์กับจีนต่อไป
ในขณะที่ ไบเดน เปิดเผยหลังการหารือว่า ตนเชื่อว่าจีนไม่มีแผนจะบุกโจมตีไต้หวันในเร็วๆ นี้ แต่ก็ได้ระบุถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าคัดค้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับไต้หวัน รวมทั้งการใช้กำลังของจีนต่อไต้หวันด้วย เพราะนั่นจะถือเป็นการบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
สหรัฐ-จีน เห็นพ้องไม่มีใครชนะในสงครามนิวเคลียร์
ส่วนในประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้จะไม่ได้มีการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน แต่ผู้นำสหรัฐฯ และจีนต่างแสดงจุดร่วมในการต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ เพราะเป็นสงครามที่จะไม่มีใครชนะ ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีจีนระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
หลังการประชุมเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถาม ไบเดน เกี่ยวกับสงครามเย็นระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่ง ไบเดน ได้ย้ำว่าจะไม่มีสงครามเย็นเกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศแน่นอน
การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของสองมหาอำนาจโลก แม้จะไม่ได้มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังคงมีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกันและยังทำงานร่วมกันได้เช่น ความคืบหน้าอีกหนึ่งอย่างจากการหารือครั้งนี้ คือ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมไปเยือนจีนในปีหน้าด้วย
ที่มา : BBC, Dailymail