วันนี้ (8 พ.ย.2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง มักเกิดอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากบาดเจ็บรุนแรงอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ปี 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 594 คน พบมากในเดือน ม.ค., ธ.ค., ต.ค.และ พ.ย. ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเทศกาลในประเทศไทย
โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1-14 ปี ถึง 23.4% รองลงมา 15-29 จำนวน 22.7% อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 3 อันดับแรก คือ มือ และนิ้ว 58.4% ตา 7.5% หัว และคอ 6.6%
อ่านข่าวเพิ่ม รวม 7 เว็บไซต์ "ลอยกระทงออนไลน์ 2565"
8 แนวทางป้องกันอันตรายเล่นพลุ-ดอกไม้ไฟ
ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ดังนี้ ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัดหรือพลุ
สอนเด็กให้รู้ถึงอันตรายของพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ เช่น อาจทำให้ตาบอด หูตึง นิ้วขาด พิการ หรือเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ห้ามโยนพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟใส่ผู้อื่น ไม่ควรจุดซ้ำหากจุดแล้วไม่ติด หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธีควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน ควรจุดในที่โล่งไม่จุดใกล้วัตถุไวไฟ ใบไม้แห้งอาคารบ้านเรือน
รวมทั้งไม่ควรจุดครั้งละจำนวนมาก ห้ามเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน เพราะอาจระเบิดได้ ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
ขอเตือนว่า การเล่นดอกไม้ไฟ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้อห้ามลอยกระทง "จุดพลุ-ประทัด-โคมลอย-เก็บเงิน"
8 พ.ย. เตรียมชม “จันทรุปราคาเต็มดวง” คืนวันลอยกระทง