ปี 2558 ประเทศไทยตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จากการตรวจสอบพบหลุมศพขนาดใหญ่และค่ายพักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญาบนเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งตั้งอยู่รอยต่อระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย ค่ายพักแห่งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าขบวนการค้ามนุษย์ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาแบบไร้มนุษยธรรมอย่างไร
ไม่ไกลกัน ทางการมาเลเซียตรวจสอบพบหลุมฝังศพและค่ายพักพิงชั่วคราวในลักษณะเดียวกันบนภูเขา “Bukit Wang Burma” เมืองเกอเลียน รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ด้วยเช่นกัน หากดูจากแผนที่จะพบว่าที่ตั้งค่ายพักพิงและหลุมฝังศพของทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนเทือกเขาเดียวกัน เพียงแค่อยู่คนละฝั่งเขตแดนประเทศ
จากการค้นพบครั้งนั้น ทำให้แต่ละประเทศตั้งชุดสืบสวนเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อสืบสาวหาขบวนการค้ามนุษย์ที่นำพาชาวโรฮิงญา มาพบจุดจบที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ผลการสืบสวนฝั่งไทยสาวไปถึง พลโทมนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของกองทัพบก ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำไปแล้วเมื่อปี 2564 พร้อมด้วยจำเลยคนอื่นๆ อีก 103 คน ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น และคนท้องถิ่น ที่รับหน้าที่เป็นผู้นำพา ขณะที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสืบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ ขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศออสเตรเลียจนถึงปัจจุบัน
ภาพค่ายพักพิงชั่วคราวบนเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา
ทางด้านประเทศมาเลเซียตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน คณะกรรมาธิการชุดนี้มีชื่อว่า The Royal Commission of Inquiry หรือ RCI โดยการสืบสวนเสร็จสิ้นไปเมื่อปี 2562 และตีพิมพ์รายงานจำนวน 211 หน้า ออกมาเพื่อเสนอต่อรัฐบาลมาเลเซีย
รายงานฉบับนี้ไม่เคยถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะถือว่าเป็นเอกสารลับมาโดยตลอด จนกระทั่งในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา รายงานฉบับดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย
รายงานการสืบสวนของ RCI โดยสรุป ระบุว่า การทรมานและการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและคนอื่นๆ ในวังเกอเลียน (Wang Kelian) “สมควรได้รับการขัดขวางจากทางการมาเลเซีย” และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของมาเลเซียยังไม่ปฏิบัติงานตามขั้นตอนมาตรฐานของตนเอง อันส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพการสืบสวนที่เกิดขึ้นในวังเกอเลียน
รายงานระบุว่า หลังจากการตรวจพบ “ค่ายมรณะ” บนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาโดยทางการมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 สามเดือนต่อมา เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบว่า มีศพมนุษย์อยู่ในหลุมศพหรือไม่ ในวันที่ 6 มี.ค. 2558 และใช้เวลาอีกหลายเดือน เพื่อขุดหลุมฝังศพและนำศพมาชันสูตรพลิกศพสภาพของเหยื่อ โดยเริ่มทำงานในวันที่ 24 พ.ค. 2558 ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นผลจากคำสั่ง “ระงับ” การสอบสวนหลุมฝังศพที่ออกมาโดยหัวหน้าตำรวจรัฐปะลิส เพราะไม่แน่ใจว่าค่ายและหลุมฝังศพอยู่ในฝั่งไทยหรือมาเลเซีย
ภาพหลุมศพที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียพบใกล้กับค่ายพักพิงชั่วคราวบน Bukit Wang Burma วังเกอเลียน รัฐปะลิส
ผลจากความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตของเหยื่อได้จำนวน 2 ศพ จากทั้งหมด 114 ศพ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ให้สัมภาษณ์กับ RCI ว่า หากมีการชันสูตรพลิกศพก่อนหน้านี้ เขาแน่ใจว่าจะมีความแตกต่างในแง่ของการระบุตัวตนและสาเหตุของการเสียชีวิตของศพ
รายงาน RCI ยังระบุถึงข้อบกพร่องร้ายแรงในการรวบรวมข่าวกรอง การประสานงานข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย รวมถึงการจัดการซากศพมนุษย์และหลักฐานอื่นๆ แม้จะมีความล้มเหลวและความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ RCI ระบุ แต่รายงานนี้กลับไม่ได้มีการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ หรือมีคำแนะนำให้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์
ล่าสุด “ฟอร์ตี้ฟายไรต์” (Fortify Rights) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ให้ทางการมาเลเซีย เปิดการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบและดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่มาเลเซียที่ถูกระบุในรายงานของ RCI ว่า เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนกรณีล่วงละเมิดและสังหารเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในวังเกอเลียน อันเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานเอง