ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กางคดียาเสพติด ปี 65 “ยาบ้า” จับกุมสูงสุด 23,365 กก.

อาชญากรรม
7 ต.ค. 65
17:08
6,594
Logo Thai PBS
กางคดียาเสพติด ปี 65 “ยาบ้า” จับกุมสูงสุด 23,365 กก.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดข้อมูลคดียาเสพติดของกลางปี 2565 พบคดียาบ้ามากสุดน้ำหนัก 23,365 กก. รองลงมายาไอซ์ 14,482 กก. กรมการแพทย์เตือนพบคนใกล้ชิดเสพยารีบพาบำบัด ก่อนขาดสติคุมตัวเองไม่ได้ก่อเหตุรุนแรง เปิดช่องเช็กอาการผ่านไลน์ “ห่วงใย”

กรณีการก่อความรุนแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งพบว่าหนึ่งในสาเหตุมาจากการขาดสติเพราะการเสพยาติด แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงผลการปราบปรามยาเสพติดจาก ป.ป.ส.ว่า ตัวเลขผู้ต้องหาในคดียาเสพติด ในปี 2564 มีจำนวน 350,000 คน แต่ในปี 2565 หลังมีกฎหมายใหม่ ผู้ต้องหาลดลงกว่า 100,000 คนและมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ

ส่วนจำนวนยาเสพติดที่ยึดได้ เช่น ยาบ้า ในปี 2564 ตรวจยึดได้ 550 ล้านเม็ด แต่ในปี 2565 ยึดได้ 342 ล้านเม็ด

กางสถิติยาเสพติดในไทย

ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่รายงานในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการตรวจรับ การตรวจพิสูจน์ การเก็บรักษา การทำลาย การนำไปใช้ประโยชน์ และการรายงานยาเสพติด พ.ศ.2565 ได้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้เก็บรักษายาเสพติดของกลาง ณ คลังยาเสพติดของกลาง

ในปี 2565 มียาเสพติดที่ทำลายจำนวนรวมกว่า 40,706 กิโลกรัม จาก 185 คดี มูลค่ารวมกว่า  34,688  ล้านบาท ดังนี้

  • เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่มีน้ำหนักมากสุดกว่า 23,365 กิโลกรัม
  • เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 14,482 กิโลกรัม
  • เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 738 กิโลกรัม
  • ยาอีน้ำหนักกว่า 4 กิโลกรัม
  • ฝิ่นน้ำหนักกว่า 29 กิโลกรัม
  • วัตถุออกฤทธิ์น้ำหนักกว่า 2,086 กิโลกรัม


ทั้งนี้ ของกลางทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข ได้เผาทำลายในวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผลข้างเคียงยาเสพติดมีผลต่อสมอง เสี่ยงก่อเหตุรุนแรง

ด้าน น.พ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระแสข่าวการก่อความรุนแรงในสังคมที่เกิดจากผู้ใช้ยาและสารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง บางคนบาดเจ็บ บางคนถึงขั้นเสียชีวิต บางครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รักไป กลายเป็นเรื่องเศร้าที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การกระทำความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ร่างกายของผู้เสพได้รับยาเสพติดเป็นระยะเวลานาน เมื่อยาเสพติดเข้าสู่ร่างกายจะมีผลต่อสมอง เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้เสพมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า

เมื่อใช้ยาเสพติดบ่อย ๆ จะทำให้สมองส่วนคิดถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป ทำอะไรตามใจ ตามอารมณ์ แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นสาเหตุของการก่อความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ

แนะคนใกล้ชิดเร่งพาบำบัด

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ขอความร่วมมือทุกคนในสังคม หากพบคนใกล้ชิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องรีบปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือรีบนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยสามารถขอคำปรึกษาและรับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.

เช็กอาการผ่านไลน์ “ห่วงใย” ประเมินว่าติดไม่ติดยา

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และสายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือผ่านช่องทางไลน์ “ห่วงใย” ซึ่งระบบแชทบ็อตตอบคำถามอัตโนมัติ ที่ตอบทุกเรื่องเพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา

โดยพิมพ์ในช่องค้นหาโดยใช้คำว่า “@1165huangyai” ก็สามารถใช้งานได้เลย จะพบกับเมนูต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินตนเองว่า ติด/ไม่ติด ซึ่งถ้าเรารู้ตัวเร็ว ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วขึ้น และยังมีการรวบรวมคำถามที่พบบ่อยไว้ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้น

สำหรับผู้ติดยาและสารเสพติด หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที www.pmnidat.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง