วันนี้ (15 ส.ค.2565) กระทรวงการคลังเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงเชื่อมฐานข้อมูล 38 หน่วยงานพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) เพื่อสร้างบิ๊กดาต้าคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีกำหนดเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ ก.ย.นี้
หลังวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน แต่อาจมีผู้ผ่านเกณฑ์ประมาณ 15 ล้านคน จากปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ไม่ได้ช่วยไขปัญหาความยากจนเป็นเพียงโครงการบรรเทา ภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยตามนิยามของกระทรวงการคลัง
สภาพัฒน์ฯกำหนดนิยามคนจนหมายถึงผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนหรือมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,700 บาท ซึ่งทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านคน ในจำนวนนี้บางส่วนอาจถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว จึงสนับสนุนให้กระทรวงการคลังปรับปรุงฐานข้อมูลผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือตัวจริง
เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ กล่าวอีกว่า วงเงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่เหลือสำหรับดำเนินมาตรการดูแลปัญหาเศรษฐกิจ เพิ่มเติมได้อีกแล้วโครงการคนละครึ่ง ระยะ 5 จึงเป็นรอบสุดท้ายจึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดูแลเศรษฐกิจอย่างตรงจุด ลดโครงการที่มีความซ้ำซ้อน
สำหรับคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงินคนละ 800 บาท พร้อมกับเติมวงเงินใช้จ่ายให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 5 และกลุ่มเปราะบางระยะที่ 3 คนละ 200 บาท สำหรับใช้จ่ายร้านค้าในโครงการตลอด 2 เดือนเริ่ม 1 ก.ย. - 31 ต.ค.2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง