ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : โจทย์ยาก “ชัชชาติ” รถไฟฟ้าสายสีเขียว

การเมือง
29 มิ.ย. 65
19:04
424
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : โจทย์ยาก “ชัชชาติ” รถไฟฟ้าสายสีเขียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ส่งสัญญาณเตือนก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังเจอโจทย์ยากเรื่องแรก คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่งว่าจ้างบริษัท บีทีเอสซี จำกัด (มหาชน) ในบีทีเอสกรุ๊ป ทำหน้าที่เดินรถ

ทำไปทำมา กรุงเทพธนาคมเป็นหนี้สะสมคงค้างบีทีเอสซี ทั้งต้นทั้งดอก รวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ต่อมาวันที่ 13 ส.ค.2563 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลควบคุม กทม.อีกชั้นหนึ่ง ได้เสนอเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีทีเอสซี เป็นเวลา 30 ปี

เท่ากับขยายเวลาสัมปทานไปถึงปี พ.ศ.2602 เพิ่มจากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2572 ให้ ครม.พิจารณา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนสำคัญ คือ ให้บีทีเอสซี ต้องรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ย ที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จาก กทม.เป็นเงินราว 1 แสนล้านบาท พร้อมกำหนดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

นำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้านจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ที่มาจากพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หลายคน ในจำนวนนี้มีนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รวมอยู่ด้วย

เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ ความคาดหวังของชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งคนในบริเวณปริมณฑล ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเฉพาะสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่กทม.ดูแลบริหารจัดการอยู่ จึงตกอยู่บนบ่า 2 ข้างของนายชัชชาติ

ฉะนั้นเมื่อมีการเคาะตัวเลขค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด 59 บาท โดยอ้างเป็นตัวเลขจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เท่ากับ “งานเข้า” นายชัชชาติเต็ม ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้

เพราะก่อนหน้านี้ เคยไปร่วมเวทีเสวนาของสภาองค์กรผู้บริโภคที่มี น.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เป็นเลขาธิการ เคยกล่าวย้ำราคาค่าโดยสารไว้ที่ 25-30 บาท

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขใหม่ สภาองค์กรผู้บริโภคจึงจัดแถลงข่าวด่วน คัดค้านค่าโดยสาร 59 บาท ของนายชัชชาติ แสดงท่าทีผิดหวังผิดหวังมาก และเรียกร้องให้ใช้ราคา 44 บาท เป็นราคาสูงสุด ที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบัน

ยังไม่นับรวม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และ รมว.คมนาคม ที่แนะให้นายชัชชาติ พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดูการเริ่มต้นของการก่อหนี้ อย่าไปดูที่ปลายทาง เพราะถ้าหากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะกลัดผิดทุกเม็ด

สำทับด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ที่ทวงคำสัญญาตอนหาเสียงของนายชัชชาติ ที่เคยพูดไว้ว่า ราคาค่าโดยสาร เป็นไปได้จะอยู่ที่ 25-30 บาท เมื่อมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ แล้ว ต้องรักษาสัญญา

ถือเป็นแรงกดดันที่ถาโถมใส่นายชัชชาติไม่น้อย หลังจากช่วงที่ผ่านมา มีเสียงขานรับและสนับสนุนการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่อย่างล้นหลาม

แต่ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงและหวังผลทางการเมืองก็อาจเป็นได้ เพราะแม้นายชัชชาติจะลงสมัคร ผู้ว่าฯ แบบอิสระ แต่ก็ถูกมองว่า มีพรรคเพื่อไทยเป็นแบ็คอัพอยู่เบื้องหลัง

เห็นได้ชัดจากการไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก.เลยทั้งที่รู้ว่า สภา กทม.มีความสำคัญในการพิจารณาอนุมัติงบสนับสนุนการทำงานบริหารกทม. รวมทั้งการผลักดันออกเทศบัญญัติ เพื่อประกาศใช้รองรับการขับเคลื่อนงานของฝ่ายบริหาร

ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทย จะต้องเผชิญกับพรรคภูมิใจไทย ที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในหลายพื้นที่ รวมทั้งภาคอีสานที่พรรคเพื่อไทยหวังปลุกกระแสแลนด์สไลด์อย่างต่อเนื่อง

ในกรุงเทพฯ แม้พรรคภูมิใจไทยจะยังไม่สามารถปักธง ส.ส.หรือ ส.ก.ได้ แต่การออกโรงตั้งข้อสงสัยเรื่องรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่กระทรวงมหาดไทยพยายามผลักดันมาหลายครั้ง ในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ย่อมมีนัยพร้อมปกป้องรักษาผลประโยชน์และสิทธิที่พึงได้ของคนกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ประกาศพื้นที่โรงเรียนปลอดกัญชา อันเป็นผลงานเด่นของพรรคภูมิใจไทย เท่ากับเกทับและสกัดกั้นอยู่ในที

รถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงเลี่ยงไม่พ้นเป็นเสมือน “หมาก” บนกระดานการเมืองเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง