ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง...โรงเรียน

สังคม
22 มิ.ย. 65
13:26
305
Logo Thai PBS
เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง...โรงเรียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผนึกกำลังครูทั่วประเทศ ติดตามเด็กยากจนพิเศษ ที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ปิดช่องว่างพาน้องกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง หลังพบว่า ครอบครัวมีปัญหารอบตัว ทำให้เด็กไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้

เด็กทุกคนต้องได้เรียนต่อ กสศ. ศธ. ตชด. อปท. สช. สร้างกลไกช่วยเหลือและติดตามนักเรียน ในช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 และ ม.3 ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียน ภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยในเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง...โรงเรียน” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ ว่า

ในปีการศึกษา 2563-2564 พบมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วน เดินหน้าติดตามพาน้องกลับมาเรียน ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือเพียง 17,000 คนเท่านั้น ที่ยังตามกลับเข้ามาไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งศูนย์ประสานงาน ติดตามเด็กกลุ่มนี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

การตามนักเรียนให้กลับมาถือว่ายากแล้ว แต่ที่สำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรไม่ให้ต้องหลุดออกไปอีกครั้ง เพราะปัญหาของเด็กที่มีความซับซ้อนมากกว่าแค่ 1 เรื่อง จึงมองแต่ตัวเด็กไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผู้ปกครองด้วย ทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม

 

ถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทุกหน่วยงาน ทั้ง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันดูแลอย่างเป็นระบบไปจนถึงตัวผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนเองก็จะเป็นหัวใจหลักในการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

เวทีเสวนา ยังยกกรณีตัวอย่างกลไกการช่วยเหลือ “น้องนนท์” (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.1 อายุ 14 ปี ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนสองภาษา มีผลการเรียนระดับดีมาก จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวเกิดปัญหาความยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

ทำให้ น้องนนท์ไม่มีสิทธิสอบ ไม่มีสิทธิเข้าเรียน จนในที่สุดต้องหลุดจากระบบไป 1 ปีการศึกษา เปิดเทอมปีการศึกษา 2565 มาหนึ่งเดือนแล้ว ยังไม่ได้กลับไปเรียน

นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหา และนำน้องนนท์ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการใช้ “ไทรน้อยโมเดล” ทำงานร่วมกันกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติทางการศึกษา กสศ. ด้วยแนวทางรับเด็กเข้าเรียนทันที แม้จะเปิดเทอมมาแล้วกว่า 1 เดือน

เพราะเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน ยิ่งทำให้เด็กเสียโอกาส ปัญหาที่โรงเรียนเก่าค่อยมาหาทางแก้ไขกันทีหลัง ขอให้เด็กได้กลับมาเรียนก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าหนังสือ และอื่น ๆ ทางโรงเรียนไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้ เพราะสามารถนำไปเฉลี่ยกับเด็กทั้งหมดได้

ไทรน้อยโมเดล เป็นระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหา โดยไม่ใช่แค่การพาเด็กกลับเข้าระบบแค่นั้น แต่จะสำรวจความพร้อม และความต้องการของเด็กหลังจากหยุดเรียนไป 1 ปี จัดทำโปรแกรมการฟื้นฟูทุกด้าน ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายในโรงเรียน

นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแล เพราะการหยุดเรียนไปนานส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจพอสมควร ซึ่งโรงเรียนของเรามีความเชื่อว่า เมื่อเด็กอยากเรียนแล้วเขาก็จะมีพลังบวกในตัวเอง โดยตอนนี้ น้องนนท์ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในระดับ ม.2 แล้ว

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า การพาน้องกลับมาโรงเรียนได้ จะได้รับการดูแลและสวัสดิการต่าง ๆ ที่รออยู่ที่โรงเรียน เช่น ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ทุนเสมอภาค นมโรงเรียน อาหารกลางวัน ซึ่งครอบครัวก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย

โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหมาย มากกว่าการไปเรียนหนังสือ ดังนั้นการพาเด็กกลับมาได้นับแสนคน จึงถือว่าเป็นคุณูปการต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระยะยาว

กสศ. ร่วมกับโรงเรียน 17,432 แห่ง 4 สังกัด (สพฐ. ตชด. อปท. สช.) ซึ่งเป็นโรงเรียนเดิมที่นักเรียนยากจนพิเศษ ช่วงชั้นรอยต่อ เคยศึกษาในภาคเรียนที่ 2 /2564 เพื่อติดตามสถานะการศึกษาต่อของนักเรียน และให้กลับมารับทุนการศึกษาลมหายใจเพื่อน้องที่โรงเรียน เนื่องจากคุณครูมีประสบการณ์ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ติดตามนักเรียนกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ด้าน ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดเทอมยังมีเด็กจำนวนมากที่ไปไม่ถึงโรงเรียน หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือปัญหาความยากจนเฉียบพลัน โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนใน กทม.ผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมประมาณ 37,000 บาทต่อคน ต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 17,800 บาทต่อคน

ถ้าเราไม่ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ปกครอง โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้ไปต่อก็ยากขึ้น และยังพบว่า เด็กที่มีความเสี่ยงหลุดสูงนั้น จะมีปัญหามากกว่า 1 เรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ ครอบครัว การหย่าร้าง และสุขภาพ

 

ตัวอย่างการทำงานในหลายพื้นที่ของโครงการพาน้องกลับมาเรียนในวันนี้ ทำให้เห็นว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่หลังจากนี้จะต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ เพราะตอนนี้เราดึงกลับมาได้แล้วกว่า 2 แสนคน ต้องหาทางประคับประคองไม่ให้กลุ่มนี้หลุดซ้ำ สิ่งที่ช่วยได้ก็คือเรื่องของทุน การมีงานทำ และการมีครูที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤติ

ทุกปัญหาในครอบครัวทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การมีงานทำ ปัญหาสังคม ผลกระทบทุกอย่างจะตกไปอยู่ที่ตัวเด็กทั้งหมด ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ที่ต้องมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการดูแล

 

ในภาวะเช่นนี้ควรพลิกมุมมอง จากการดูแลเด็กจากเด็กเก่งและดี เป็นดูให้เด็กรอด และต้องบูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวง ในทุกๆ พื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์พ้นวิกฤติ ก่อนจะส่งต่อให้จังหวัดดูแลในระยะยาว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง