วันนี้ (15 ธ.ค.2567) นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ปรึกษาและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ(ศบปภ.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดที่ภาคใต้
แม้ว่ากระทรวง พม. ได้เตรียมการและวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยให้เข้าติดตามการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด และจากที่ตนได้พูดคุยกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และชุมพร ถึงสถานการณ์อุทกภัย บางแห่งน้ำลดลงแล้ว บางแห่งสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เช่น ระนอง สุราษฎร์ธานี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการคลี่คลายสถานการณ์ความช่วยเหลืออยู่
อ่านข่าว : ภาคใต้เสี่ยง "น้ำท่วม" อีกระลอก เตือนฝนตกหนักถึง 18 ธ.ค.
ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาอยู่พอสมควรคือนครศรีธรรมราช เนื่องจากน้ำจากเขาหลวง ลานสกา และพรหมคีรี ไหลรวมเข้าเมืองค่อนข้างมาก ทำให้เกิดท่วมขังในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ค่อนข้างสูง จนเทศบาลชักธงแดงแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ขณะนี้ยังมีฝนตกลงมาเพิ่ม
โดยรวม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่มีปัญหาเนื่องจากฝนตกแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถือว่าตกไม่ปกติ คือตก 2 วันติดต่อกัน จำนวนน้ำฝนตกลงมามากทำให้น้ำเอ่อขึ้นมา ประกอบกับระยะนี้เป็นหน้ามรสุม น้ำทะเลก็หนุนด้วย ทำให้ผนวกกันจนเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้
ทั่วไปที่มีสถานการณ์รุนแรงเท่าที่ได้รับรายงานคือที่เกาะสมุยมีดินสไลด์ ทำให้มีแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเสียชีวิตไปหนึ่งราย อีกปัญหาหนึ่งของภาคใต้คือฤดูมรสุม เช่นที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เกิดพายุงวงช้าง ทางพม.จังหวัดจะได้เข้าไปช่วยดูแล และคงรายงานมาให้ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้าง
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนบนนั้น ไม่เหมือนกับสถานการณ์น้ำท่วม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสภาวะของกลุ่มเปราะบางเขาจะมีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็กต้องการนมผงเด็ก ผู้สูงอายุต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงวัย และกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการผ้าอนามัย
ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ประสานขอสิ่งของเหล่านี้จากยูนิเซฟ เข้าไปแจกซึ่งไม่มีปัญหาแล้ว
แต่จังหวัดภาคใต้ตอนบนขณะนี้ เราไม่มีการบริจาคในลักษณะพิเศษดังกล่าว จึงต้องให้ทาง พม.จังหวัดของ กระทรวง พม.เรา ช่วยประสานดูว่า จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากเกิดขึ้นทั่วประเทศ จะต้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก สำหรับกลุ่มเปราะบาง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน
อ่านข่าว : น้ำท่วมไทยเกิดถี่ขึ้น "อ.ธรณ์" ชี้ "ชุมพร" พื้นที่บอบบางน่าห่วงสุด
จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดที่รับน้ำจากที่สูงเพื่อออกทะเลเป็นเช่นนี้มาต่อเนื่องทุกปี แต่ปีนี้ปริมาณน้ำเยอะมาก ปัญหาคือถนนสายเอเชียซึ่งเป็นสายหลัก ปริมาณน้ำลด แต่รถยนต์สะสมมาก ทำให้รถติดยาวมาก เพราะถนนตัดขาด รถสะสมมานาน 2 วัน หน่วยงานที่จะเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่กลุ่มเปราะบางการทำงานก็ติดขัด เดินทางได้ลำบาก ในถนนสายรองน้ำก็ยังท่วมอยู่ ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือยังมีสภาวะการคมนาคมที่ยากลำบากอยู่มาก
ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ มีการเรียกประชุมศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ผ่านทางออนไลน์ เวลา 10.00 น. ที่กระทรวง พม. เพื่อกำกับติดตามดูแลการปฏิบัติการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ถึงพื้นที่โดยตรง
อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. เปิดพื้นที่หน่วยงานเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายแห่ง ในหลายจังหวัด ประชาชนและพี่น้องกลุ่มเปราะบางสามารถสอบถามได้จาก สำนักงาน พม. จังหวัดนั้น ๆ หรือโทรสายด่วน 1300 ของกระทรวง พม.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าว : ปภ.เผยน้ำท่วม 4 จังหวัดใต้ กระทบ 43,595 ครัวเรือน ตาย 3 คน