ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทนายแจม" กับ 1 ปี ที่สวมกางเกงไปศาล เพื่อสิทธิทนายหญิง

สังคม
7 มิ.ย. 65
16:04
2,201
Logo Thai PBS
"ทนายแจม" กับ 1 ปี ที่สวมกางเกงไปศาล เพื่อสิทธิทนายหญิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นอกจากลงชื่อร่วมรณรงค์ในแคมเปญทางออนไลน์ "ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" หรือทนายแจม ทนายความอิสระ เริ่มต้น "สวมกางเกงไปศาล" มานานกว่า 1 ปี เพื่อเป็นอีกแรงขับเคลื่อนประเด็นนี้ด้วยตัวเอง ด้วยความหวังว่าข้อบังคับต่าง ๆ จะแก้ไขให้ทุกเพศแต่งกายได้อย่างเท่าเทียม

ภาพ “คามิล วาสเกวซ” ทนายความของจอห์นนี่ เดปป์ นักแสดงชื่อดังระดับโลก ที่ว่าความอย่างเข้มข้นจนชนะคดีได้ในที่สุด นอกจากฝีมือทางวิชาชีพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนชื่นชมคือ การสวมใส่กางเกงสแล็กสีขาว เข้าคู่กับเสื้อสูทเสริมลุคมั่นใจ จุดกระแสโซเชียลให้กลับมาสนใจประเด็นการผลักดันให้ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลในไทยอีกครั้ง

 

แม้ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และกลุ่มนิติฮับ จะเคยผลักดันและเรียกร้องให้ทนายความหญิงมีสิทธิสวมกางเกงไปศาล เพื่อยื่นเรื่องต่อสภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา ควบคู่กับการรณรงค์ทางออนไลน์ใน change.org ตั้งแต่ปี 2564 โดยล่าสุดมีผู้ลงชื่อร่วมแคมเปญแล้วกว่า 10,000 คน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกี่ยวกับข้อบังคับดังกล่าว

สวมกางเกงไปศาล เพื่อความสะดวก-สิทธิตัวเอง

ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ "ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" หรือทนายแจม ทนายความอิสระ ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ตัดสินใจสวมกางเกงมาศาลเพื่อสิทธิของตัวเองเป็นกิจวัตรในการประกอบวิชาชีพว่าความต่อสู้คดีเพื่อสิทธิของคนอื่น เพราะปัญหากระโปรงที่รัดแคบ​ กลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเดินทางที่ต้องขึ้นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ หรือแม้แต่การเดินขึ้นบันไดศาลก็นับเป็นโจทย์ท้าทายที่ทนายความหญิงทุกคนต้องเผชิญในทุกวัน

 

ตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ทนายศศินันท์​ จึงเลือกสวมกางเกงไปศาล​ เพื่อทำหน้าที่ทนายความ ซึ่งเป็นอีกก้าวของการต่อสู้ นอกเหนือจากการร่วมลงชื่อกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และกลุ่มนิติฮับ ผ่าน change.org

เราลงชื่อในแคมเปญ แต่ก็ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนด้วยการใส่กางเกงไปศาล เพื่อยืนยันสิทธิของเรา และเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าทุกคนมีสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และแสดงให้เห็นว่าสวมกางเกงก็สุภาพได้ 

บางศาลอนุโลมทนายหญิงสวมกางเกงก็ว่าความได้

ทนายศศินันท์ บอกเล่าความหลังในวันวาน เมื่อ 8 ปีก่อนช่วงเริ่มเส้นทางอาชีพนี้ เธอเลือกที่จะสวมกางเกงไปทำงาน แต่ได้รับคำตักเตือนจากทนายความหญิงรุ่นพี่ว่าห้ามสวมกางเกงและให้สวมกระโปรงเท่านั้น วันเวลาผ่านไปกระทั่งเมื่อปีก่อน เธอจึงตัดสินใจหันกลับมาสวมกางเกงไปศาลอีกครั้งด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ 2529 ในข้อ 20 กำหนดไว้วว่า ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น


ทนายศศินันท์ ระบุว่า ข้อบังคับดังกล่าวถูกทวงถามจากตัวแทนทนายความหญิงถึงการเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัย ซึ่งก็ได้รับการตอบกลับเป็นหนังสือว่า "ไม่ได้บังคับว่าต้องใส่กระโปรง" แต่เมื่อไปว่าความในศาลจริง ๆ บางศาลมีการอ้างอิงพระราชบัญญัตติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ข้อ 17 (2) ที่ระบุว่า​สมาชิกที่เป็นหญิง แต่งกายแบบสากลนิยมกระโปรงสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้ม และไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย เมื่อสวมครุยเนติบัณฑิตด้วย

ไม่ใช่ทุกศาลจะบังคับ แต่ละศาลก็มีดุลยพินิจให้สวมกางเกงได้ ผู้พิพากษาบางท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และสนับสนุนให้ไปผลักดัน แต่ศาลบางแห่งก็ยังเคร่งครัดกฎระเบียบอยู่ แต่ส่วนตัวไม่เคยถูกว่าหรือตักเตือน

ทนายหญิงถูกเตือนสวมกางเกงสืบพยานออนไลน์

นอกจากนี้ ทนายศศินันท์ ยังเปิดเผยอีกว่า ได้รับเรื่องจากทนายรุ่นน้องว่า มีการตักเตือนทนายหญิงที่สืบพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าต้องสวมกระโปรง และเข้มงวดมาก โดยบอกว่าครั้งหน้าต้องสวมกระโปรงและยืนให้ดูด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ มองว่า เป็นการใช้กฎระเบียบที่เกินสัดส่วนไป

นอกจากทนายหญิง กางเกงหรือกระโปรงก็ควรจะเป็นสิทธิของทนายที่มีความหลากหลายทางเพศ ตราบใดที่ไม่กระทบการทำงาน การแต่งกายควรเป็นเรื่องที่ประยุกต์ไปตามชีวิตประจำวัน หรือปรับไปตามบริบทสังคมได้

 
อย่างไรก็ตาม ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ระบุว่า กรณีการสวมกางเกงไปศาลของทนายความหญิงนั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาเป็นหลัก เนื่องจากทนายความทุกคนสวมชุดครุยของเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งโดยทั่วไปสภาทนายความจะออกข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาอยู่แล้ว ดังนั้น หากเนติบัณฑิตยสภามีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็จะมีการพิจารณาต่อไป พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยลงโทษทนายความหญิงที่สวมกางเกงไปศาลมาก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง