วันนี้ (5 มิ.ย.2565) กรณีนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบฯ กระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ ว่า กองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 จำนวน 757 เครื่อง เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท นั้น
ล่าสุดเฟซบุ๊ก NSTDA - สวทช. โพสต์ข้อความระบุว่า ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยให้บริการ ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้มาตรฐานสากล ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (จีที 200) ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง ว่าใช้งานได้หรือไม่ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์
รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง การทดสอบจึงต้องดำเนินการตามหลักการทดสอบทุกรายการที่มีการดำเนินการทดสอบเครื่อง จีที 200 และใช้เป็นบรรทัดฐานของข้อมูลประกอบการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้
การดำเนินการทดสอบทุกรายการต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง
สำหรับค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจบนหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบนพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป
นักวิชาการแนะนำผลผ่าจีที 200 ในอดีตมาใช้
ขณะที่ เพจ Jessada Denduangboripant ของ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในบุคคลที่เคยร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพจีที 200 และ ALPHA 6 เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและแนบแถลงการณ์ของ สวทช.ว่า ศูนย์พีเทคของ สวทช. ได้เคยช่วยตรวจเครื่องตัวอย่างของจีที 200 และพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้มีประจุไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาจากเครื่อง แสดงถึงการเป็นเครื่องที่หลอกลวง
และเมื่อผลตรวจเสร็จสิ้นตั้งแต่การทดสอบโดยคณะกรรมการทดสอบฯ ในช่วงปี 2553 แล้ว ซึ่งผลการทดสอบนั้นก็ได้นำไปใช้ในการกล่าวหาดำเนินคดีกับบริษัทผู้ขายและตัดสินคดีจนชนะในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไปแล้ว
รวมถึงการเอาผลนี้ไปใช้ในการไต่สวนของ ป.ป.ช. จนสามารถชี้มูลความผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างได้นับร้อยคน น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและกล้าประกาศให้กับสังคมรับรู้กันว่าเครื่องจีที 200 เป็นแค่กระป๋องพลาสติกเปล่าๆ ที่หลอกลวงประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแทนที่จะให้คำแนะนำกลับไปกองทัพ ว่าไม่จำเป็นจะต้องตรวจสอบทั้ง 757 เครื่องนี้อีก กลับรับงานตรวจสอบที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสียงบกว่า 7.57 ล้านบาท
ย้อนรอยจีที 200 ก่อนถูกเลิกใช้
ย้อนมหากาฬจีที 200 วันที่ 20 ส.ค.2556 ศาลอังกฤษตัดสินจำคุกนายแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล 7 ปี ข้อหาฉ้อโกงขาย จีที 200 ให้หลายประเทศ และตัดสินยึดทรัพย์เจมส์ แมคคอร์มิค ในคดีขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมกว่า 7.9 ล้านปอนด์คิดเป็นเงินไทยกว่า 395 ล้านบาท เพื่อไปจ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อที่ถูกหลอก
เรื่องนี้ก็ถูกขยายผลมาถึงประเทศไทย เพราะมีการจัดซื้อเครื่องมือนี้ สมัย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซื้อเป็นเจ้าแรก ตามมาด้วยกองทัพบก ยุค พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปี 2551-2552 ก็สั่งซื้อไป รวม 541 เครื่อง และมีหน่วยงานรัฐ 16 แห่งจัดซื้อจีที 200 และ ALPHA 6 รวมแล้ว 1,398 เครื่องมูลค่า 1,178 ล้านบาท และมีการสั่งซื้อในหลายราคา
และเมื่อถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ที่ส่วนใหญ่นำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็ยังมีเหตุระเบิด ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพ ผลทดสอบออกมาว่าเครื่องนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริงจึงสั่งเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดไม่นำมาใช้งานอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กห.แจงตรวจ "จีที 200" เป็นข้อมูลฟ้อง "อ.เจษฎา" ชี้รู้อยู่แล้วใช้ไม่ได้