ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพื่อไทยจวกแพ้คดีเหมืองทองอัครา "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" รับผิดชอบ?

การเมือง
18 ก.พ. 65
10:16
2,225
Logo Thai PBS
เพื่อไทยจวกแพ้คดีเหมืองทองอัครา "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" รับผิดชอบ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จิราพร สินธุไพร" ส.ส.เพื่อไทย จี้ตอบให้ชัดค่าเสียหายที่ประเทศต้องจ่าย ถามนายกฯ หากแพ้คดีเหมืองทองอัครา ใครรับผิดชอบ "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" ระบุเงื่อนไขรัฐเจรจาคิงส์เกต แลกสมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ บางจุดเป็นพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานฯ-ป่าสงวน

วันนี้ (18 ก.พ.2565) น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเป็นคนแรกของวันนี้ โดยกล่าวถึงประเด็นคดีเหมืองทองอัคราซึ่งถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาดอย่างน้อย 3 ครั้ง และครั้งล่าสุด เดิมมีกำหนดออกคำชี้ขาด 31 ม.ค.2565 แต่กลับถูกเลื่อนออกไปอีกแบบไม่มีกำหนด

สรุปมีการเลื่อนการออกคำชี้ขาดแล้ว 4 ครั้ง จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยตอบคำถามด้วยว่า ใครเป็นคนขอเลื่อน เลื่อนแล้วได้อะไร ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์


ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ราชอาณาจักรไทยถูกบริษัทคิงส์เกตฟ้องร้อง รัฐบาลไม่เคยชี้แจงว่า บริษัทฯ ฟ้องร้องประเทศไทยในประเด็นใดบ้าง และเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นจำนวนเท่าใด หากเทียบเคียงกับคดีเหมืองทองของประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ประเมินได้ว่า หากแพ้คดีไทยต้องจ่ายขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ไปเอง แล้วเหตุใด จึงไม่บอกความจริงกับประชาชนถึงรายละเอียดทั้งหมด

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นคนที่ใช้ ม.44 แต่บริษัทคิงส์เกตไม่ได้ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ฟ้องประเทศไทย ทุกคนตกเป็นจำเลยร่วมกันทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย แล้วทำไมคนไทยจะรู้ไม่ได้ว่า เขาฟ้องตัวเองเรื่องอะไร และต้องจ่ายเท่าไหร่

น.ส.จิราพร เตือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถอ้างได้ว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับที่อนุญาโตตุลาการไม่ให้เปิดเผย เนื่องจากในแถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกต ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ระบุว่า อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้กระบวนการพิจารณาเป็นความลับ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งการตอบคำถามในสภาฯ ถือเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างหนึ่ง อีกทั้งกระบวนการไต่สวนได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2563

บริษัทคิงส์เกตทำรายงานต่อผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาโดยตลอด ขนาดเป็นบริษัทเอกชน แต่ประเทศไทยที่ประชาชนไม่มีส่วนได้ มีแต่ส่วนเสีย กลับถูกรัฐบาลปกปิดเป็นความลับมาโดยตลอด

3 บทสรุปคดีเหมืองทองอัครากับการเจรจาของรัฐไทย

น.ส.จิราพร อภิปรายต่อว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อมีคดีพิพาทระหว่างรัฐกับผู้ลงทุน เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะจะมีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะเท่าที่จำเป็น เพื่อความโปร่งใส บางประเทศถึงกับมีการถ่ายทอดสดการไต่สวนในชั้นอนุญาโตตุลาการให้ประชาชนด้วยซ้ำ

ขณะที่บทสรุปของคดีเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ  1.ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือทั้งสองฝ่ายประนีประนอมยอมความกัน จนนำไปสู่การถอนฟ้อง ซึ่งอนุญาโตตุลาการจะไม่มีการคำชี้ออกมาว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด

2.ออกคำชี้ขาดเพียงบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ชี้ขาดในภายหลัง และ 3.ออกคำชี้ขาดข้อพิพาททั้งหมด และตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิด


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับคิงส์เกต จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการและจะเดินหน้าเจรจา หรือเลือกไม่เจรจาแล้วสู้คดีจนถึงที่สุด แต่หากเลือกสู้คดีจนถึงที่สุด ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และมีโอกาสต้องจ่ายค่าโง่ ที่เป็นได้ทั้งรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกตที่ต้องแจ้งต่อตลาหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 ระบุว่า "คิงส์เกตยืนยันว่า มีโอกาสจะได้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จจากชั้นอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับไทยไม่สำเร็จ"

หากมีคำชี้ขาดออกมาว่าไทยแพ้คดี คำถามที่ประชาชนอยากทราบคือ คนที่ต้องรับผิดชอบ คือ ประยุทธ์ หรือประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยประกาศว่า จะรับผิดชอบเอง จะควักเงินในกระเป๋าตัวเองหรือใช้งบประมาณแผ่นดินจ่าย


น.ส.จิราพร ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาด ประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิ์ในการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิ์อื่น ๆ เกือบทุกครั้ง การเปิดทางให้บริษัทคิงส์เกตนำผงเงิน ผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกไปขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 400,000 ไร่ การให้สิทธิต่อประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น เหตุใดการต่อสู้ทางคดีจึงยังไม่ยุติ ยังไม่มีการชี้ขาดว่าใครถูกใครผิด

ให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 400,000 ไร่ และคาดว่ารออนุมัติเพิ่มอีกเกือบ 600,000 ไร่ เป็นไปได้อย่างไรที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมที่มีพื้นที่เพียงกว่า 3,000 ไร่ ไม่ยุติ ยังได้สิทธิพื้นที่ใหม่ เท่ากับว่า ต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ของการใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา

เปิดเงื่อนไขเจรจารัฐบาลแลกอะไรกับคดีเหมืองทองฯ

คำถามที่ว่า สิ่งของเหล่านั้นเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการประนีประนอมยอมความหรือไม่นั้น บริษัทคิงส์เกต ได้ให้คำตอบในแถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย 23 ก.ย.2564 โดยระบุว่า คิงส์เกตและรัฐบาลไทย ได้ขอให้อนุญาโตตุลาการ ชะลอคำชี้ขาดไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2564 เพื่อขยายเวลาให้ทั้งสอฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติร่วมกัน และคิงส์เกตได้เจรจากับรัฐบาลไทย ซึ่งต้องทำตามขั้นตอน 11 รายการ ยกตัวอย่าง เช่น

  • การให้ใบอนุญาตและคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในการดำเนินการเหมืองทองคำชาตรี
  • การต่ออายุการอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญ
  • การให้สิทธิและการลดหย่อนภาษีจากบีโอไอ
  • การเข้าถึงเงินทุนเพื่อการพัฒนาสำหรับการปรับปรุงและขยายเหมือง
  • การพัฒนาโรงงานผลิตทองคำในท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการรับรองระดับสากล
  • การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการนำบริษัทอัครา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • การแก้ปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นทั้งหมด

พื้นที่คิงส์เกตประทานบัตรทับเขตอุทยานฯ-ป่าสงวน?

น.ส.จิราพร ระบุอีกว่า การให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่เกือบ 400,000 ไร่ และการให้ประทานบัตรทำเหมืองนั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เหมืองแร่ ปี 2560 ซึ่ง ม.27 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า พื้นที่ที่จะกำหนดให้ทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม


ขณะเดียวกันพื้นที่อีก 600,000 ไร่ ที่บริษัทคิงส์เกต ได้ทำเรื่องขอประทานบัตรทำเหมือง และทำเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ค้างไว้ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทองคำ ชื่อ แหล่งสุวรรณ และแหล่งโชคดี ทั้ง 2 แหล่งนี้มีพื้นที่รวมกันกว่า 30,000 ไร่ คาดว่าอยู่ในเขต อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และปรากฏว่า แหล่งทองคำทั้ง 2 แห่งนี้ มีพื้นที่ทับซ้อนกันกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย

คำถาม คือ กฎหมายไม่ให้ทำเหมืองในพื้นที่เขตอุทยานฯ แต่คิงส์เกตขอมา แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะยกพื้นที่นี้ให้หรือไม่

คดีเหมืองทองอัครา อาฟเตอร์ช็อก ม.44

ทั้งนี้ น.ส.จิราพร ระบุว่า การประนีประนอมยอมความเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่การประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้อยู่ในข้อพิพาทเป็นเรื่องผิดปกติ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้มีการตัดสิน ม.44 เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาด ต้องตัดสินว่า การใช้ ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อความตกลงทาฟตา (TAFTA) หรือไม่ และต้องชี้้สถานะทางกฎหมายของ ม.44 ด้วย

ม.44 เป็นกฎหมายเถื่อนที่กำหนดโทษอาญา แต่ไม่ได้ออกโดยรัฐสภา แล้วคณะอนุญาโตตุลาการจะกล้ารับรองหรือ หากอนุญาโตตุลาการชี้สถานะ ม.44 ว่า ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย จะกลายเป็นอาฟเตอร์ช็อกสะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ คณะรัฐประหารทั้งหมด


น.ส.จิราพร ทิ้งท้ายว่า การพิจารณาคดีนี้อาจทำให้ คสช.ถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม และ พล.อ.ประยุทธ์ อาจกลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนแรกที่ต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้การเจรจาประนีประนอมเกิดขึ้น ซึ่ง "พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา เป็นความผิดพลาดไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วยังใช้ประเทศไปประกันตัวเองออกจากคดี หากมีการเจรจาประนีประนอมคดีอย่างผิดกฎหมายอีกจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศซ้ำสอง"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง