วันนี้ (27 ม.ค.2565) จากกรณีที่บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลิกกิจการ "อาคเนย์ประกันภัย" โดยสมัครใจ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจวินาศภัยในภาพรวม
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ ไทยประกันภัย ซึ่งนำไปเงินไปชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกันโควิด-19 ของลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย เป็นเงินรวม 9,900 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ระบุว่า อาคเนย์ประกันภัย ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. และทุกกรมธรรม์ยังได้รับความคุ้มครอง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
"เอเชีย-เดอะวัน" เซ่นพิษโควิด-19
ก่อนหน้านี้ ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ คือบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หรือเอเชียประกันภัย ที่ถูก คปภ.สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564 หลังจากพบว่ามีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ
ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค.2564 บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูก รมว.คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตเช่นกัน หลังจากพบว่ามีฐานะทางการเงินไม่มั่นคง มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงิน และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า
2 บริษัท กระทบกว่า 4 ล้านกรมธรรม์
ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่า ผลกระทบจากการเพิกถอนใบอนุญาตของเอเชียประกันภัย และเดอะวันประกันภัย ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 2 บริษัท กว่า 4 ล้านกรมธรรม์ ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยกองทุนประกันวินาศภัย และได้รับเบี้ยประกันภัยคืนเพียงบางส่วนตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเบี้ยประกันภัยน้อยกว่าที่บริษัทประกันภัยเคยเสนอให้
นอกจากนี้ ประชาชนหลายหมื่นคนที่มีเคลมกับเอเชียประกันภัย ประมาณ 1,800 ล้านบาท และเดอะวันประกันภัย ประมาณ 2,800 ล้านบาท ต้องยื่นเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัยพร้อมจัดเตรียมเอกสารหลักฐานใหม่ทั้งหมด และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด
ขณะที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยของทั้ง 2 บริษัทที่มีเคลมเกินกว่า 1 ล้านบาท ไม่สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องเงินจากกองทุนประกันวินาศภัยได้ ส่วนพนักงานของทั้ง 2 บริษัทถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเกือบ 1,000 คน และโรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ร้านอะไหล่ และคู่สัญญาอื่นๆ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ขอรับการชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัยได้เป็นจำนวนมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คปภ.ชี้ "อาคเนย์ประกันภัย" ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการ