สำรวจพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจแหล่งอารยธรรมโบราณ
เมื่อสิบปีที่แล้ว คงเป็นเรื่องเหลือเชื่อหากมีใครสักคนบอกว่า เราสามารถใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ติดอุปกรณ์พิเศษบินสำรวจพื้นที่ใหญ่เกือบ 50 ตารางกิโลเมตร ภายใน 14 วัน เพื่อสำรวจร่องรอยทางภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้
แต่การสำรวจนี้เกิดขึ้นในแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของไทย ใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยสภาวัฒธรรมอำเภอศรีเทพ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันว่าจ้าง ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ใช้โดรนไลดาร์ (Lidar) ระบบเลเซอร์แสง บินสำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และบริเวณโดยรอบอย่างละเอียด ด้วยงบประมาณไม่ถึง 200,000 บาท
เพื่อทำความเข้าใจแหล่งอารยธรรมโบราณ บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงพบศิลปวัตถุร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร ในอาณาเขตบริเวณนี้ ทำให้นักโบราณคดีคาดว่า พื้นที่นี้เคยมีความรุ่งเรืองอยู่กว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรง หรือปัญหาภัยแล้งในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19
อุปกรณ์การสำรวจเมืองโบราณใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ด้วยโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์
สาเหตุที่สภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เลือกใช้โดรนไลดาร์ ระบบเลเซอร์ เข้ามาสำรวจพื้นที่ อ.ศรีเทพ เนื่องจากในพื้นที่นี้ยังไม่มีการศึกษาภูมิประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานอย่างละเอียด ส่วนบริเวณที่มีการสำรวจไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เมืองในของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
ประกอบกับแต่เดิมนักโบราณคดี มักใช้การเดินเท้าสำรวจตามร่องรอยการปรากฏของโบราณวัตถุ ที่ได้รับการแจ้งจากชาวบ้านหรือชุมชนในพื้นที่ หรืออาศัยการสุ่มขุดสำรวจ ทำให้จนถึงปัจจุบันไม่มีใครทราบว่า อาณาเขตของเมืองโบราณศรีเทพ อันเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญของไทย มีอาณาเขตและภูมิศาสตร์หน้าตาเป็นอย่างไร
ส่งผลให้การทำแผนการจัดการบริหารพื้นที่ในภาพรวมเป็นไปได้ยาก โดยปัจจุบันพบปัญหาการทับซ้อนกัน ระหว่างแหล่งโบราณสถาน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงยังมีโบราณสถานหลายแห่งที่ยังตกสำรวจ บางแห่งกลายเป็นจุดลักลอบขุดโบราณวัตถุไปขาย สร้างความเสียหายให้กับแหล่งโบราณสถานและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีกด้วย
โดรนไลดาร์คืออะไร
โดรนไลดาร์ (Lidar) ระบบเลเซอร์แสงเป็นเทคโนโลยีที่นักโบราณคดีในหลายประเทศใช้ เพื่อสำรวจและทำแผนที่แหล่งโบราณคดี ถึงแม้เทคโนโลยีนี้ช่วยให้การสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่หรือพื้นที่ที่เป็นป่าทึบเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนการสำรวจยังค่อนข้างสูงอยู่ในปัจจุบัน
ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าชุดโครงการสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ ขณะทำงานการสำรวจในพื้นที่ศรีเทพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565
ดร.พชรพร อธิบายว่า หลักการทำงานของโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์ก็คือ นำโดรนขึ้นบินในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ระหว่างที่โดรนบินอยู่ เครื่องไลดาร์จะส่งเลเซอร์สะท้อนลงมาบนผิวดิน พร้อมกับส่งข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ไปยังตัวเก็บข้อมูล
ลักษณะพิเศษของอุปกรณ์นี้คือ ตัวเลเซอร์สามารถยิงทะลุโครงสร้างอาคารและต้นไม้ไปยังพื้นดินได้ ทำให้ทราบค่า Ground elevation หรือค่าความสูงต่างของจุดที่อยู่บนพื้นดินหรือค่าระดับความต่างของหน้าดิน
การสำรวจและเก็บข้อมูลด้วยโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์
ถ้าหากมีโบราณสถานอยู่ใต้เนินดิน ระยะที่วัดเป็นจุดๆๆ ก็จะปรากฎขึ้นมาเป็นรูปภาพโครงสร้างของโบราณสถานให้เห็น นี่ก็คือหลักการง่ายๆ ของเลเซอร์ โดยเรานับจุดที่เลเซอร์วิ่งมาชน แล้วนำข้อมูลทั้งหมดไปแปรภาพ ตัดต้นไม้ออก ตัดหญ้า ตัดทุ่งนาออก แล้วเราก็จะได้ระดับความต่างของดิน
ดร.พชรพร กล่าวต่อว่า หากพื้นที่ไม่ถูกไถไปทำถนนคอนกรีตเสียก่อน ส่วนใหญ่แล้วร่องรอยของพื้นที่จะยังคงอยู่ ทำให้เราคาดคะเนได้ว่า หากเคยมีโบราณสถานหรือเขตชุมชนหรือเป็นพื้นที่ที่เคยใช้งานในอดีต มันเคยอยู่ตรงไหน
ตัวอย่างร่องรอยของโบราณสถานจากการแปรข้อมูลที่ได้จากจากโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์ (หมายเหตุ ภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพที่ได้จากการแปลข้อมูลโดรนไลดาร์ฯ ในพื้นที่อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์)
ความตื่นเต้นที่รออยู่จากผลการสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ
ย้อนกลับไปในปี 2558 ที่ประเทศกัมพูชา ทีมนักโบราณคดีจาก Cambodian Archaeological Lidar Initiative หรือ CALI ติดอุปกรณ์ไลดาร์ ระบบเลเซอร์ขนาดใหญ่ เข้ากับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินสำรวจนครวัดและบริเวณโดยรอบคิดเป็นพื้นที่ขนาด 1,910 ตารางกิโลเมตร
พวกเขาใช้เวลาบินทั้งหมด 86 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน 2558 ผลจากการแปรภาพข้อมูลไลดาร์ระบบเลเซอร์ ทำให้นักโบราณคดีสร้างแผนที่ทางโบราณคดีได้แม่นยำและชัดเจนมากขึ้น จนเห็นได้ว่า นครวัดและเมืองที่อยู่รอบๆ มีผังเมืองและคลองที่เชื่อมต่อกันอย่างไร
พวกเขาสร้างระบบการชลประทานแบบไหน ใช้พื้นที่การเกษตรสำหรับอะไร รวมถึงพบเจออาณาจักรลับแล ที่ไม่เคยสำรวจพบมาก่อนเลย ถึงแม้นักโบราณคดีพยายามแกะรอยที่ตั้งของอาณาจักรดังกล่าวมาอย่างยาวนานจากหลักฐานการบันทึกเก่า
เฮลิคอปเตอร์และอุปกรณ์ไลดาร์ที่ทีมนักสำรวจจาก Cambodian Archaeological Lidar Initiative หรือ CALI ใช้บินสำรวจนครวัดและบริเวณโดยรอบในปี 2558 ในภาพคณะสงฆ์มาร่วมให้พรทีมสำรวจเมื่อเดินทางมาถึงปราสาท Banteay Chhmar (ภาพจาก angkorlidar.org)
การสำรวจดังกล่าวช่วยให้นักโบราณคดีทำความเข้าใจนครวัดได้มากขึ้น รวมถึงเป็นหลักฐานใหม่ที่ช่วยให้การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาณาจักรเขมรโบราณสมัยนั้นกระจ่างชัดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดร.พชรพร บอกว่า ความสำคัญของการสำรวจเมืองโบราณใน อ.ศรีเทพในครั้งนี้ คือ เมืองนี้เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของไทย และมีการกระจายตัวของโบราณสถานนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีความเข้าใจว่าภูมิทัศน์และขอบเขตของเมืองโบราณแห่งนี้ว่ามีพัฒนาการหรือการขยายตัวในรูปแบบใด มีโบราณสถานกระจายอยู่ในตำแหน่งใดของเมืองบ้าง
เมื่อเราไม่รู้ว่าโบราณสถานตั้งอยู่ที่ใด ก็มักจะเจอปัญหาว่า การขยายกิจกรรมทางการเกษตร นำไปสู่การทำลายโบราณสถานที่เรายังไม่รู้ตัว
บางแหล่ง หากโบราณสถานอยู่ในพื้นที่ที่ตื้นหน่อย เช่น สุสานโบราณ หากคุณไถดินออกไป บางครั้งก็พบสำริดบ้าง กระดูกมนุษย์บ้าง ทำให้เราเสียโบราณสถานเหล่านี้ไปแล้ว หรือหากไม่รู้ว่ามีโบราณสถานเหล่านี้อยู่ บางครั้งคนงานก่อสร้างขุดไปชนกับอิฐหรือศิลาแลง โบราณสถานเหล่านี้ก็ถูกไถ ทำลายไป
ดร.พชรพร กล่าวต่อว่า ดังนั้นเวลาเรามอง ถ้าหากเราอนุรักษ์ในลักษณะภูมิทัศน์ทั้งหมด รู้ว่าจุดหรือตำแหน่งไหนคือภูมิทัศน์ที่ถูกใช้งานในพื้นที่โบราณสถาน เราก็สามารถสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังรักษาโบราณสถานเหล่านี้
เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบพื้นที่ขณะโดรนบินสำรวจ
รวมถึงนำโบราณสถานเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนปัจจุบัน มากกว่ารอให้เขาเดินไปในวิถีเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่เราพยายามต่อสู้ว่าจะรักษาโบราณสถานเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร
นอกจากนี้ ดร.พชรพร ให้ข้อมูลว่า ชุมชนสามารถดึงข้อมูลการสำรวจจากโดรนไลดาร์มาวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมบางพื้นที่รอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจึงประสบภัยแล้งต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี และสามารถนำข้อมูลจากการสำรวจไลดาร์ฯ ในครั้งนี้ไปทำแผนจัดการน้ำ
การสำรวจโดรนไลดาร์แบบเลเซอร์ของศรีเทพในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่สำรวจเพื่องานด้านอนุรักษ์โบราณสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของท้องถิ่นที่ต้องการเข้าใจภูมิทัศน์การจัดการน้ำ และต้องการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองโบราณ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเมืองศรีเทพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของไทยต่อไป
หัวหน้าชุดโครงการสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ ประเมินว่า ในเบื้องต้นน่าจะใช้เวลาสามเดือนสำหรับการแปรภาพเบื้องต้น ซึ่งจะรายงานให้ทราบต่อไปว่าการสำรวจอันน่าตื่นเต้นนี้จะค้นพบอะไรในพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพบ้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง