วันที่ 7 ม.ค.2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีพบมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และเชื้อไวรัสโคโรนา (Corona) ในคนเดียวกันที่ต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า ฟลูโรนา (Flurona) ว่า
ขณะนี้ยังไม่มีนัยสำคัญอะไรที่ทำให้ต้องวิตกกังวล และจากการเฝ้าระวังในประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อดังกล่าว
"ฟลูโรนา" เป็นชื่อที่มาจาก "ฟลู" คือไข้หวัดใหญ่ และ "โคโรนา" คือโควิด-19 เชื้อทั้ง 2 เป็นไวรัสทั้งคู่ แต่เป็นไวรัสคนละตระกูล และทั้ง 2 ตระกูลทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กัน คือมีอาการทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด คัดจมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ในกรณีคนที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรืออวัยวะต่างๆ ล้มเหลว
อาการของฟลูโรนา เท่าที่มีการรายงานในปัจจุบันยังไม่มีอะไรแตกต่างจากโควิดทั่วไป โอกาสติดเชื้อทั้ง 2 ตัวพร้อมกันค่อนข้างน้อย จำนวนผู้ป่วยที่พบยังมีจำนวนน้อย ขณะนี้มีข้อมูลรายงานการตรวจพบในอิสราเอล บราซิล ฮังการี ฟิลิปปินส์
การที่คนหนึ่งคนติดเชื้อ 2 อย่างโดยบังเอิญในเวลาเดียวกัน มีความเป็นไปได้ (Mixed Infection) แต่จะผสมพันธุ์กันจนเกิดเป็นไฮบริดไม่ได้ จึงไม่ต้องวิตกกังวล
แต่สิ่งที่ควรรู้ คือ ทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อโควิด-19 แพร่กระจายจากทางเดินหายใจในลักษณะที่เป็นฝอยละอองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง สามารถป้องกันทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกัน และถ้าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นควรฉีดวัคซีน
สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดในกลุ่มปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ขณะนี้ สปสช.เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประมาณ 6 ล้านโดส ให้กลุ่มเหล่านี้ ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 จะฉีดให้ครอบคลุมคนในประเทศทั้งหมด
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรเว้นระยะจากวัคซีนโควิด-19 ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ เพราะหากฉีดพร้อมกัน 2 อย่าง อาจจะทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยมากเกินไป และเมื่อเกิดอาการข้างเคียงก็จะไม่รู้ว่ามาจากวัคซีนตัวใด เพราะฉะนั้นถ้าฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ หากไม่มีอาการอะไรก็ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่อได้
อ่านข่าวอื่นๆ
อิสราเอลพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และไข้หวัดคนแรกของประเทศ
ศบค.ห่วง ก.พ.นี้ "โควิดรายวัน" แตะ 3 หมื่นเร็วกว่าคาดการณ์
ใครบ้างได้กระตุ้น "เข็ม 4" เปิดแผน ม.ค.65 ฉีดวัคซีน 9.3 ล้านคน