วันนี้ (7 ม.ค.2565) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 300 ล้านคนแล้ว โดยประเทศที่ติดระดับแสนคนขึ้นไป และล้านคนขึ้นไป เช่น สหรัฐอเมริกา 700,000 คน รวมทั้งแนวโน้มตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกินแสนคน เช่น อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี
กราฟตัวเลขทั่วโลกพุ่ง สูงขึ้นกว่าทุกยอดเขาที่เคยมีการรายงานมา สถานการณ์โลกสะท้อนสถานการณ์ในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกันอยู่ และตัวเลข 300 ล้านคนในไม่กี่วัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ (7 ม.ค.) จำนวน 7,526 คน และยอดสะสม 2,252,776 คน หรือร้อยละ 0.98 และยังต่ำกว่าสถานการณ์โลกที่เกินร้อยละ 1
หากประเมินจากฉากทัศน์ไทย สถานการณ์จริงแตะเส้นกราฟสีเทา ถ้าปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติการติดเชื้อตัวเลขหลักหมื่นคนได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.หรืออาจถึงจำนวน 30,000 รายในเดือน ก.พ.ทำให้ให้นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสถานการณ์นี้และสั่งรับมือสถานการณ์นี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนกราฟการเสียชีวิตยังไม่พ้นเส้นสีเขียว ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่อยากให้เป็น ทำให้รับรู้ว่า โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเดลตา ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องวางระดับการเตือนภัยโควิด ซึ่งยกระดับจาก 3 เป็นระดับ 4 แล้ว
โควิดไทยกี่ระลอก?
โฆษก ศบค.ระบุว่า จากสถานการณ์ระบาดโควิดปี 2563-2565 พบว่า ระลอกเดือนม.ค.2563 เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น พบผู้ติดเชื้อมากสุด 188 คน (ข้อมูล 22 มี.ค.2563) ปัจจัยเสี่ยง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สนามมวย สถานบันเทิง และพิธีกรรมทางศาสนา
ระลอกเดือนธ.ค.2563 เริ่มพบสายพันธุ์ G พบเชื้อมากสุด 959 คน (ข้อมูล 26 ม.ค.2564) ปัจจัยเสี่ยงมาจากแรงงานข้ามชาติ โรงงาน สถานประกอบการ สถานบันเทิง
ส่วนระลอกเดือน เม.ย.2564 พบการระบาดสายพันธุ์อัลฟา เดลตา พบผู้ติดเชื้อมากสุด 23,418 คน ปัจจัยเสี่ยงมาจากแรงงานข้ามชาติ โรงงาน สถานประกอบการ สถานบันเทิง พิธีกรรมทางศาสนา และพบผู้เสียชีวิตสูงสุด 217 คน วันที่ 14 ส.ค.2564
เดือนม.ค.65 สายพันธุ์โอมิครอน สู่โรคประจำถิ่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง