นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว ภายหลังการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการบูรณาการ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางของระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-FLOW ซึ่งเป็นระบบใหม่ในการจัดเก็บค่าผ่านทางลดการสัมผัส
ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดเก็บค่าผ่านทางด้วยการตรวจป้ายทะเบียนทำให้รถสามารถขับผ่านด่านเก็บเงินได้โดยไม่ต้องชะลอซึ่งจะช่วยระบายรถบริเวณหน้าด่านเนื่องจากสามารถระบายรถหน้าด่านได้อย่างมีประสิทธิภาพเร็วขึ้น 5 เท่า หรือ 2,000-2,500 คัน/ช่อง/ชม. เมื่อเทียบกับระบบชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติ เช่น เอ็มพาส (M-Pass) และอีซีพาส (Easy-pass) อยู่ที่ 500 คัน/ช่อง/ชม. โดยใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม.ในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการนำร่องบนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง และด่านธัญบุรี ในวันที่ 29 ต.ค.นี้
หากระบบ M-Flow ประสบความสำเร็จ จะขยายไปใช้ในเส้นทางอื่น ๆ ต่อไป โดยในปี 2565 จะทำการศึกษาใช้กับมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ–มาบตาพุดต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนให้ความสนใจใช้ระบบ M-Flow หลักแสนคน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า เมื่อมีระบบ M-Flow ใช้ในเส้นทางของทางพิเศษ (ทางด่วน) และมอเตอร์เวย์ครบทุกเส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบันแล้ว หรือเปิดบริการเต็มรูปแบบจะยกเลิกจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสด หรือ ระบบ M-Pass และ Easy-Pass ภายในปี 2567 เนื่องจากในขณะนี้โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เช่นมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 สายบางปะอิน–นครราชสีมา และหมายเลข 81 สายบางใหญ่–กาญจนบุรีจะใช้ระบบ M-Flow

การบังคับใช้ทางกฎหมาย ถ้าผู้ใช้ทางฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าผ่านทางจะปรับ 10 เท่าของอัตราค่าใช้บริการ เช่น รถขนาด 4 ล้อ ราคา 30 บาท/ด่าน ถ้าวิ่งทุกวัน 1 เดือนจะต้องจ่ายค่าผ่านทาง 900 บาทต่อเที่ยว หรือ ไป–กลับ 1,800 บาท หากไม่ชำระจะปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็น 9,900 บาท หรือ ถ้าไป–กลับเป็น 18,000 บาท
การจ่ายค่าผ่านทางนี้จะแจ้งผู้ใช้ทางผ่านทางแอปพลิเคชัน M-Flow ทุกวัน ส่วนการค้างจ่ายค่าผ่านทางนั้นสามารถจ่ายได้ภายใน 30 วัน หรือจ่ายได้ทันที ซึ่งจะเป็นการจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน คิวอาร์โค้ด และอนาคตขยายไปจ่ายที่ธนาคารออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ทางต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การจัดโปรโมชัน เพื่อจูงใจผู้ใช้ทางให้ใช้ระบบ M-Flow นั้น ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. เป็นต้นไป ถ้าใครลงทะเบียนจะได้รับวิ่งฟรี 2 เที่ยว โดยจำกัดแค่จำนวน 1 แสนสิทธิ์
จากนั้นในช่วง 1 ม.ค. 2565 จะให้ ทล.สรุปโปรโมชัน ในช่วงเปิดใช้จริง 3 เดือนให้ชัดเจน เช่น ถ้าใช้ระบบ M-Flow ลด 10% จากเดิมเคยจ่าย 30 บาทต่อด่าน จะลดเหลือ 27 บาท/ด่าน หรือถ้าลด 20% จากจ่าย 30 บาท/ด่าน จะจ่าย 24 บาท/ด่าน หากจัดโปรโมชันลด 10% จะทำให้รายได้มอเตอร์เวย์ลดลง 15 ล้านบาท/เดือน หรือ ลด 20% จะทำให้รายได้มอเตอร์เวย์ลดลง 30 ล้านบาท/เดือน
สำหรับระบบ M-Flow จะทำให้สะดวก รวดเร็ว ลดปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่าน รวมทั้งลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย ส่วนการจัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางยังเหมือนเดิม

ขณะเดียวกันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องบุคลากรที่นั่งที่ด่านลง โดยถ้าใช้ระบบเดิมและเปรียบเทียบกับใช้ระบบ M-Flow จะลดลง 20 สตางค์/คัน จากระบบเอ็มพาส 2.9 บาท/คัน ถ้าใช้ระบบ M-Flow เหลือ 2.7 บาท/คัน
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถ สมัครส่วนรูปแบบการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จะเป็นการผ่านก่อนจ่ายทีหลัง โดยเจ้าของรถจะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกผ่านทาง www.mflowthai.com หรือ Mobile Application : Mflow หรือที่จุดบริการ เพื่อชำระค่าผ่านทางผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การหักบัญชีธนาคาร และการตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid ที่สามารถเลือกชำระเป็นรายครั้งหรือตามรอบบิล ให้กับกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นายศักดิ์สยามยังยืนยันว่า เมื่อใช้กล้องเชื่อมต่อระบบ จากการทดลองมีความค่อนข้างแม่นยำร้อยละ 99 อนาคตจะใช้ระบบนี้ในการตรวจสอบป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ผิดกฎหมาย ดำเนินคดี เช่นเหตุอาชญากรรมการขโมยรถคดีผิดกฎหมาย จะได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หากหลีกเลี่ยงการจ่าย จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวน 10 เท่าของค่าปรับ ให้เวลาจ่ายภายใน 1 เดือน พร้อมเตรียมหารือกับร้านสะดวกซื้อและธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งนี้ อนาคตหากใช้จะยกเลิกอีซีพาสรวมถึงการจ่ายเงินสด คาดว่าจะสมบูรณ์ทั้งระบบในปี 2567
แท็กที่เกี่ยวข้อง: