ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครอบครัวโฮมสคูลแนะเลือกระบบการศึกษา สอดคล้องยุคโลกเปลี่ยน

สังคม
13 ก.ย. 64
12:44
2,169
Logo Thai PBS
ครอบครัวโฮมสคูลแนะเลือกระบบการศึกษา สอดคล้องยุคโลกเปลี่ยน
การเรียนแบบ Home School ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้ปกครองหลายคน หันมาใช้เป็นทางเลือกแทนการเรียนออนไลน์ ขณะที่ "ครอบครัวพานิชภักดิ์" เลือกระบบการศึกษาแบบนี้มาก่อนราว 20 ปี เพราะเชื่อในคุณภาพที่จะได้รับ

เกือบ 20 ปี ที่ ดร.จารุภา พานิชภักดิ์ นายพิภพ พานิชภักดิ์ ตัดสินใจเลือกระบบการศึกษาแบบโฮมสคูล ให้ลูกทั้งสองคน คือ น.ส.พลอยธัญญา ยินดีรัก พานิชภักดิ์ (น้องพลอย) และ ด.ช.พิรภพ จิตรเจริญ พานิชภักดิ์ (น้องพึ่ง) ด้วยหลักคิด “ห้องเรียนสุดขอบฟ้า”

ทั้งด้วยเหตุผลในการดูแลลูกทั้งสองคนให้สอดคล้องกับการทำงานของพ่อแม่ และด้วยเชื่อว่า “ความรู้ไม่ได้อยู่ในแต่ในห้องเรียน”

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ ดร.จารุภา พานิชภักดิ์ นายพิภพ พานิชภักดิ์ ถึงโอกาส ข้อดี ข้อเสีย ในการเรียนแบบโฮมสคูล โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นักเรียนในระบบโรงเรียนต้องหันมาเรียนด้วยระบบออนไลน์

ขณะที่ผู้ปกครองหลายคน เลือกทางเดินใหม่ให้ลูก โดยนำลูกออกจากระบบโรงเรียน หันหน้ามาเรียนแบบโฮมสคูลแทน

ถาม : สถานการณ์ปัจจุบันของ "ห้องเรียนสุดขอบฟ้า"

พิภพ : ปัจจุบันทางบ้านได้เปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือก โดยไม่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาพังงา แล้ว ทั้ง 2 คน แต่เปลี่ยนเป็นการเรียน เพื่อรับวุฒิการศึกษาที่สถาบันการศึกษาทางไกล

แต่ในแง่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในบ้าน ก็ยังคงแนวทางการเรียนแบบบ้านเรียนหรือโฮมสคูล โดยเน้นความสนใจและความชอบของเด็ก ๆ เป็นหลัก

สาเหตุที่เปลี่ยนมีหลายปัจจัยประกอบกัน คือ คุณพ่อมีปัญหาสุขภาพ เพิ่มเข้ามา บุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบการจดทะเบียนบ้านเรียนของที่บ้านเปลี่ยนไป พบว่ามีช่องว่างความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาที่ไม่เหมือนเดิม

คุณแม่พบปัญหาในการจัดสรรเวลา เพื่อจัดทำเอกสารประเมินรายปี การเปลี่ยนไปเรียนสถาบันการศึกษาทางไกล จึงเอื้อให้การศึกษาแบบบ้านเรียน ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องแบกภาระเกี่ยวกับการประเมิน

ถาม : ทำไมตัดสินใจให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล

พิภพ : เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว การต่อสู้ของครอบครัว บ้านเรียนรุ่นแรก ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เป็นประเด็นข่าวที่ผมสนใจ และติดตาม เมื่อทำการศึกษาก็ยิ่งสนใจ

และเนื่องจาก ผมมีความรู้สึกว่า อนาคตโลกจะมีปัญหาใหม่ ๆ ที่ต้องการชุดความรู้ใหม่ ๆ มาทำการแก้ไขและหาทางออก เช่น ปัญหาเรื่องภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ ข้าวยากหมากแพง จึงเชื่อว่าเด็ก ๆ ควรได้รับทักษะชีวิตชุดใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21

ในความหมายของเรา หมายถึง การรู้จักตนเอง การรู้จักธรรมชาติรอบตัว การรู้จักชุมชนและวัฒนธรรม การรู้จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม (เพราะหากเราจะรอดในวิกฤติการณ์เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่สามารถรอดคนเดียวได้)

เมื่อพบกับภรรยา ซึ่งเป็นนักวิจัย และมาจากครอบครัวครู/นักการศึกษา จึงได้ตัดสินใจ สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “ห้องเรียนสุดขอบฟ้า” ซึ่งหมายถึงว่า ไม่รวมศูนย์ ไม่ยึดติดกับอำนาจส่วนกลาง และมีอิสระด้วยหลักเศรษฐกิจทางเลือก และการสร้างเครือข่ายความรู้กับชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ (จึงเดินทางตลอดเวลา) โชคดีที่ผมมีอาชีพเป็นนักผลิตสารคดีเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้เดินทางตลอดเวลา ไม่ว่าจะในพื้นที่ริมฝั่งโขง พื้นที่ภาคใต้ และภาคเหนือ

ถาม : ข้อดี-ข้อเสียของโฮมสคูล

พิภพ :

ข้อดี
เป็นระบบการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามความสนใจและศักยภาพของเด็ก เอื้อต่อการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการศึกษาที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามแต่บริบทของปัญหา สมาชิกครอบครัวมีการใช้เวลาร่วมกันค่อนข้างมาก ทั้งร่วมเรียนรู้ ร่วมเผชิญและแก้ไขปัญหา

สมาชิกในครอบครัวมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และทัศนคติอยู่สม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นิยามของคำว่า “ครู” ก็ไม่ได้จำกัดแค่ในเชิงวิชาชีพ แต่ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่ประสบพบเจอ ก็สามารถเป็นครูของเด็กบ้านเรียน

เปิดโอกาสให้การประเมินเด็ก เน้นที่การดูพัฒนาการและองค์รวม ไม่ใช่การทดสอบความรู้เป็นส่วน ๆ

นิยามคำว่า “เพื่อน” ของผู้เรียนจะกว้างมาก ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพื่อนในวัยเดียวกัน

ข้อเสีย
- บทบาทที่ซ้ำซ้อนในการเป็นทั้งพ่อแม่ เป็นเพื่อน และเป็นครู ถ้าแยกแยะไม่ดี เด็กก็จะไม่ค่อยเชื่อฟัง เด็กมีโอกาสจะดื้อและต่อรองกับพ่อแม่ได้มาก
- หากต้องเปลี่ยนแหล่งเรียนรู้บ่อย ๆ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
- เวลาส่วนตัวของพ่อแม่จะน้อยลงไปมาก
- หากเจอกับบุคลากรของรัฐ อาทิ สำนักงานเขตฯ ศึกษานิเทศก์ ที่ขาดความเข้าใจเรื่องปรัชญาการศึกษาทางเลือก ก็อาจเกิดความขัดแย้ง และปัญหาที่ไม่ลงรอยกัน

ถาม : เรียนมาแล้วเจออุปสรรคอย่างไร อะไรบ้าง

พิภพ : เชิงโครงสร้าง ค่อนข้างสะดวก ราบรื่น เพราะสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพังงา ในช่วงต้น มีคนทำงานที่เข้าใจปรัชญาการศึกษาทางเลือก และการทำบ้านเรียนพอสมควร เรียกได้ว่า เป็นบุคลากรที่เริ่มก่อตัวมารร่วมกับสมาคมบ้านเรียนไทยในอดีต แต่ในเชิงรายละเอียด ก็ต้องมีการต่อรองกันอยู่บ้าง อาทิ สัดส่วนของการประเมินผลระหว่างบ้านเรียนและสำนักงานเขตฯ จาก 80 : 20 เป็น 70 : 30 เป็นต้น

แต่เมื่อเปลี่ยนตัวคนทำงานเป็นบุคลากรใหม่ ที่ไม่ได้มีความเข้าใจต่อปรัชญาการศึกษาทางเลือก บวกกับการนำเอาเกณฑ์วัดแบบในระบบมาใช้ ก็ทำให้เกิดช่องว่างของความคิดและการปฏิบัติอยู่บ้าง

ถาม : เมื่ออยู่ในสถานการณ์นี้เด็กทั่วไปต้องเรียนออนไลน์ โฮมสคูลได้รับผลกระทบอะไรบ้าง (เชิงบวก-เชิงลบ) แก้ปัญหาอย่างไร

พิภพ :

เชิงบวก
- ลดกิจกรรมเชิงการบริโภค เช่น การดูหนัง เที่ยวห้างสรรพสินค้า ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดการการเงิน การวางแผนชีวิตเพื่อพร้อมต่อการเผชิญกับภาวะวิกฤตต่าง ๆ
- ได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ทำให้ต้องสร้างสรรค์กิจกรรม ที่จะทำร่วมกัน ได้ค้นพบกิจกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถทำหรือเรียนรู้ร่วมกันได้ อาทิ การนั่งดูสตรีมมิ่งเกี่ยวกับนกจาก Cornell’s Lab การสังเกตธรรมชาติใกล้บ้าน ใกล้ตัวมากขึ้น
- ได้มีโอกาสเรียนออนไลน์ในองค์ความรู้ที่สนใจ เช่น การวาดภาพนกและธรรมชาติ

ถาม : หากเด็กในระบบโรงเรียนพบปัญหาการเรียนออนไลน์ แล้วอยากเปลี่ยนวิถีมาเรียนแบบโฮมสคูล มีอะไรแนะนำบ้าง

จารุภา : สิ่งสำคัญประการแรก คือ ต้องมีการพูดคุยกันในครอบครัวว่า จะมีข้อตกลงใหม่ร่วมกัน ในเรื่องเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้ไปสู่แนวทางของบ้านเรียน พูดคุยในที่นี้คือเป็นการพูดคุยไปจนถึงรุ่นของปู่ย่าตายาย ที่อยู่ในบ้านร่วมกัน

ความเข้าใจและแรงหนุน จากสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การจัดการศึกษาบ้านเรียนประสบความสำเร็จ

จากนั้นก็เริ่มเขียนหลักสูตรที่ต้องการ ซึ่งหลักสูตรในกลุ่มบ้านเรียนจะเป็นแบบกลุ่มประสบการณ์ หรือ แบบกลุ่มสาระตามแบบในโรงเรียนก็ได้ แล้วแต่ครอบครัวและเด็กพูดคุยกันว่าอยากจะให้ออกมาในรูปแบบไหน

เมื่อได้หลักสูตรก็นำหลักสูตรเสนอกับทางสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาตามระดับการเรียนของผู้เรียน เมื่อได้รับการอนุมัติก็จัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางที่ได้นำเสนอไว้

ดร.จารุภา กล่าวว่า โดยส่วนตัว คิดว่าการเรียนแบบบ้านเรียนเหมาะและสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดเป็นอย่างมาก เพราะยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์หรือวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาบ้านเรียน คือ การให้ความสำคัญกับความสามารถในการร่วมปรับตัวและเติบโตของเด็ก ๆ และของตัวเราเอง

ถาม : การเรียนโฮมสคูลในภาวะปกติคนอาจมองว่า ทำให้เด็กเสียโอกาส หรือไม่ได้ร่วมกับสังคม ไม่มีเพื่อน แต่ในภาวะแบบนี้ที่คนต้องห่างกัน คิดอย่างไร มองเห็นโอกาสอะไรบ้าง

น้องพลอย : คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามมาตั้งแต่เริ่มทำ Homeschool จากทั้งตัว สพฐ. เอง และบุคคลทั่วไป ซึ่งยังคงโดนคำถามนี้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องขออธิบายว่า การทำบ้านเรียน ชื่ออาจมีส่วนประกอบให้ใครหลาย ๆ คนในระบบคิดเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เราใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนเด็กทั่วไป

เรามีการเข้าสังคมปกติ มีการเจอเพื่อนทั้งในและนอกระบบ และไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดต่อการเข้าสังคม

 

น้องพลอยเล่าต่อว่า หากถามว่า เกิดปัญหาจากการถูกตั้งคำถามหรือไม่ อาจเรียกได้ว่า งง กับการถูกตั้งคำถามเช่นนี้มากกว่า เพราะทุกครั้งที่ถูกถาม มักทำให้รู้สึกว่า เพียงเพราะการเรียนนอกระบบ จะทำให้เราดูเป็นคนที่ไม่มีสังคมได้ขนาดนั้นเชียวหรือ และหากการมีสังคมในนิยามนี้ คือการมีเพื่อนที่เรียนชั้นเดียวกัน (คำถามมักจะมาในรูปแบบว่ามีเพื่อนชั้นเดียวกันหรือเปล่า) นั้น เป็นการอธิบายคำว่าสังคม โดยส่วนตัวไม่มองเช่นนั้น เพราะสังคม เป็นมากกว่านั้น

ในชีวิตเราสังคม ไม่ได้มีแค่คนในวัยเดียวหรือชั้นเดียวกัน ที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องพบเจอ แต่เป็นคนอีกมากมายนอกเหนือจากนี้ ต้องทำอะไรหรือไม่ ไม่ให้เกิดความรู้สึกแตกต่าง

โดยส่วนตัวไม่เคยรู้สึกว่าแตกต่าง เรามองตัวเองเป็นเด็กคนนึง ที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเหมือนคนอื่น ๆ เพียงแต่วิธีการจัดการศึกษาของเราไม่ได้เป็นในรูปแบบของโรงเรียน และเข้าเรียนในห้องตามรายวิชา เรามีเพื่อนและสังคม จะมากพอตามความสงสัยของใครหลาย ๆ คนหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะแต่ละคนดูมีคำว่า มากพอ ต่างกัน แต่เรามีแน่นอน ซึ่งเราเลยไม่เคยรู้สึกว่าเรา "แปลกแยก หรือ แตกต่าง" แต่อย่างใด

ถาม : ข้อเสนอต่อสังคมโดยรวมจากห้องสุดขอบฟ้า เรื่องการเรียนช่วงโควิด

จารุภา : การเรียนปีนี้เน้นเรียนให้ผ่าน โดยไม่ต้องมีคะแนนเป็นตัววัด น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ที่สุด เน้นเป็นการผ่านกิจกรรมหรือประสบการณ์

ลำพังการที่เด็ก ๆ และครอบครัวต้องฝ่าวิกฤตโรคระบาดก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว การผ่านบททดสอบแห่งชีวิตนี้ร่วมกันไปได้ ของทั้งครอบครัว น่าจะเป็นรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องต่อการใช้ชีวิตมากที่สุด

อยากให้การศึกษาในระบบทั้งหลายหันกลับมาฟังเสียงความกังวล ความเครียด ความทุกข์ของผู้ปกครองและครอบครัวให้มาก ๆ แล้วร่วมกันจับมือฝ่าวิกฤตร่วมกัน แทนที่จะคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำรอบด้าน การศึกษาในแบบบนลงล่าง (top down) ที่แยกเด็กออกห่างจากบริบทชุมชน สังคม ครอบครัวอาจจะเคยถูกใช้และเป็นมา ตามบริบทของสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง

 

ดร.จารุภา กล่าวต่อว่า แต่ ณ เวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนอย่างพลิกผัน การศึกษาถูกปรับให้ต้องผนวกพ่อแม่ ผู้ปกครอง และ พื้นที่บ้านเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างการเรียนรู้

ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยพร่ำบอกว่า นี่น่าจะเป็นโมเดลทางการศึกษาในอุดมคติที่ให้ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่มามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่มีส่วนร่วมในที่นี้ไม่น่าจะหมายถึงการรับโจทย์หรือคำสั่งจากโรงเรียน และนโยบายด้านบน ให้มาทำตามเช็คลิสต์เพื่อผ่านเกณฑ์คะแนนสมมติ

มีส่วนร่วมในที่นี้คือพ่อแม่และผู้ปกครอง ได้ร่วมออกแบบรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงที่กำลังเผชิญอยู่ เด็กหรือผู้เรียนเองก็จะได้เรียนรู้บทเรียนแห่งชีวิตร่วมกับพ่อแม่

ถ้าจะเรียกว่าผ่านคะแนนสมมติในระดับใดก็ต้องเรียกว่าผ่านในระดับเกินเกรด 4 หรือ A+ เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกครัวเรือน และก็เรียกร้องให้นักการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษา ผู้ออกแบบนโยบายทางการศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ ลองฟังเสียงและข้อเสนอแนะของพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังดังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง