กรณีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่องห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้วันแรก 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้ (5 ส.ค.2564) นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ความจำเป็นที่ต้องเร่งประกาศข้อห้ามเรื่องครีมกันแดดออกมา เพราะหากยังใช้สารอันตรายอย่างแพร่หลาย จะทำให้ปะการังไม่มีโอกาสเติบโต เนื่องจากสารเคมีในครีมกันแดดที่ห้าม 4 ชนิดมีผลต่อตัวอ่อนของปะการัง ซึ่งปกติมีอัตราที่โตแค่เฉลี่ยปีละ 10 ซม. และบางชนิดโตเฉลี่ยแค่ปีละ 1-2 ซม.
นายดำรัส กล่าวว่า จากตัวเลขนักท่องเที่ยว 80-90% ที่มาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ส่วนใหญ่จะมากับบริษัททัวร์ เพื่อดำน้ำดูปะการังทั้งแบบน้ำลึกและน้ำตื้น ซึ่งก่อนสถานการณ์ COVID-19 มีนักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำในแถบอันดามันเยอะมาก แต่ช่วงที่เกิดปัญหา ทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหยุดชะงักลง
ไม่ห้ามทุกชนิด-นำร่องเจอยึดก่อนคืนทีหลัง
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า การที่ประกาศในตอนนี้ทั้งที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา นอกจากกรมอุทยานฯ จะได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อม ทั้งการประสานไปยังบริษัททัวร์ทุกแห่งเกี่ยวกับเรื่องประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้
รวมทั้งการให้ความรู้ และเพิ่มรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับชนิดของครีมกันแดดที่ห้าม และให้ใช้ได้ รวมทั้งการทำป้ายสื่อความหมายในสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเบื้องต้นจะทำ 3 ภาษาทั้งไทย อังกฤษ จีนเพื่อให้แจ้งนักท่องเที่ยว
ยืนยันไม่ใช่งดใช้ครีมกันแดดทุกยี่ห้อ แต่ห้ามเฉพาะครีมกันแดดที่ผสมสารเคมีอันตราย 4 ชนิด และในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา มีการบังคับใช้แล้ว
นายดำรัส กล่าวว่า เชื่อว่าทั้งบริษัททัวร์ และนักท่องเที่ยวจะเข้าใจกับมาตรการนี้และให้ความร่วมมือกับกรมอุทยานฯ เพราะตอนนี้หลายประเทศทั้งในยุโรป และอเมริกา ก็เลิกใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีทำร้ายปะการังแล้ว ต่อไปของไทยเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ทั้งเรือทัวร์ ไกด์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะทำงานได้เป็นระบบและมีความพร้อม
ถ้านักท่องเที่ยวยังมีเล็ดรอดเข้ามายังไม่ได้ปรับทันที และขอให้ฝากเอาไว้ก่อน แต่ไม่ให้นำไปทาตัวเพื่อลงน้ำแล้ว และถ้ากลับขึ้่นเกาะมาจะคืนให้
ภาพ:วราวุธ ศิลปอาชา
"วราวุธ" แนะดูฉลากที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รม.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์เฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา โดยขอให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารอันตราย 4 ชนิด ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล แล้วเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ #ReefSafe #OceanFriendly แทน
นายวราวุธ ระบุว่า เพราะนอกจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแล้ว สารเคมีในผลิตภัณฑ์กันแดด ก็เป็นอีกตัวการที่ทำให้ปะการังในท้องทะเลอ่อนแอเสื่อมโทรมลง กรมอุทยานฯ จึงเห็นชอบให้แบนการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ที่มีสารเคมีอันตรายในอุทยานแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 24 มิ.ย.2564 มีผลบังคับใช้แล้ว
พร้อมระบุว่า แต่ไม่ต้องตกใจว่า ต่อไปนี้ไปเที่ยวทะเลไทย แล้วห้ามทาครีมกันแดด ให้ต้องเสี่ยงมะเร็งผิวหนังหรือเปล่า? เพราะทุกวันนี้ ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์กันแดดหลายยี่ห้อ ที่พัฒนาสูตรมาให้เป็นมิตรกับปะการังและสัตว์ทะเล เพียงแค่มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ Reef Safe หรือ Ocean Friendly หาซื้อง่าย มีหลายยี่ห้อให้เลือก แต่ขออนุญาตไม่ชี้เป้า เพราะเดี๋ยวจะเข้าข่ายโฆษณาสินค้า
สำหรับสารเคมี ที่ต้องห้ามมี 4 ชนิดดังนี้
- Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3)
- Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate)
- 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)
- Butylparaben
ไปเที่ยวทะเลครั้งหน้า อ่านส่วนผสมของกันแดดก่อนพกใส่กระเป๋ากัน เพราะถ้าเผลอใช้ไป นอกจากจะมีส่วนในการทำลายปะการังโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังอาจมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทมาช่วยกัน Save ปะการัง Save กระเป๋าตังค์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คุมเข้มแล้ว! ห้ามใช้ครีมกันแดดผสม 4 สารเคมี ห่วง "ปะการัง" พัง
"ปาเลา" ประเทศแรกแบน "ครีมกันแดด" เป็นพิษต่อแนวปะการัง