วันนี้ (22 ก.ค.2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงถึงแนวทางการใช้ชุดตรวจโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit หรือ ATK ว่า ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ทางกระทรวงสาธารณสุขและ EOC สาธารณสุข มีนโยบายที่จะใช้ชุดตรวจอย่างรวดเร็ว มาตรวจคัดกรองกรณีสงสัยผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข ทดลองนำร่องตรวจในชุมชนและในพื้นที่ต่างๆ พบว่าสามารถใช้ชุดตรวจนี้ในการตรวจอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา มีการตรวจไปกว่า 50,000 คน พบผลบวกประมาณ 10% และได้นำกรณีผลบวกดังกล่าวไปเทียบกับมาตรฐาน พบว่ามีการตรวจผิดพลาดไปไม่เกิน 3% ซึ่งทำให้ทราบว่าผลตรวจชุดตรวจดังกล่าวใช้ได้ผลดี
ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ สปสช.ได้มีมติในการขยายให้การเพิ่มชุดตรวจนี้ ไปในประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนให้ตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดหาและทางทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรค กำลังวางแผนจะจ่ายชุดตรวจนี้ให้กับประชาชนได้ตรวจ
หากมีความก้าวหน้าอย่างไร จะมีการสื่อสารให้กับประชาชนได้รับทราบว่าจะไปรับชุดตรวจอย่างไร มีวิธีการตรวจอย่างไร เมื่อได้ผลบวกแล้วจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ หากผลตรวจออกมาบวก จะมีการนำเข้าระบบที่เรียกว่า Home Isoiation หรือ Community Isolation ถ้าหากเป็นกลลุ่มเสี่ยงจะมีการรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หากมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงจะมีการนำเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลต่อไป
ส่วนกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและสถานพยาบาลที่จะมีการนำชุดตรวจนี้ไปใช้มีประมาณทั้งหมดกี่แห่ง เพื่อที่ประชาชนมั่นใจว่าเข้าถึงได้นั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้นำร่องสื่อสารกับคลินิกชุมชนในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ประมาณ 200 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เริ่มทยอยในการตรวจมากขึ้น เพราะจุดเด่นของชุดตรวจนี้ คือไม่จำเป็นต้องตรวจโดยโรงพยาบาล สามารถตรวจโดยศูนย์บริการ หน่วยบริการต่างๆ และเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทั่วประเทศ ก็จะทยอยตรวจในกลุ่มดังกล่าวด้วย
ขยายใช้ในหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลสุขภาพในระดับพื้นที่ ทั้งกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลต่างๆ ในระดับส่วนภูมิภาคออกไป ที่เป็นหน่วยย่อยลงไป ที่อยู่หน้างานสัมผัสใกล้ชิดดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. คลินิกชุมชนอบอุ่นของภาคเอกชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ ระบบบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิ หรือคลินิกใกล้บ้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นเอกชน ประมาณ 70% และอีกส่วนที่เป็นส่วนสำคัญ คือศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ขณะนี้ ยังมีหน่วยเชิงรุกที่ลงไปดูแลประชาชนในระดับชุมชน ในระดับพื้นที่ หรือที่เรียกว่า Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) คือทีมที่ไปดูแลทุกมิติ
สำหรับชุดตรวจนี้เป็นชุดตรวจสำคัญในการช่วยดูแลความเจ็บป่วยในเรื่องโควิด-19 ของประชาชน ซึ่่งชุดตรวจจะให้ผลได้เร็ว ประมาณ 15 นาที ก็ทราบผลแล้ว
โดยที่ว่าสามารถทำเอง เช่น การสอนให้ประชาชนใช้ไม้สวอปในการเข้าไปเก็บตัวอย่างบริเวณโพรงจมูก คือในรูจมูกของเรา รวมถึงหลังจากนั้น นำมาจุ่มลงในชุดตรวจ คล้ายชุดตรวจปัสสาวะที่ดูการตั้งครรภ์ แต่อันนี้เราเก็บจากสารคัดหลั่งในโพรงจมูก ซึ่งเป็นชุดตรวจที่ทำได้ไม่ยากและมีฉลากและคำอธิบายอยู่ในชุดตรวจ ซึ่งชุดตรวจเหล่านี้ลงไปถึงระดับคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ
รวมถึงหน้างานที่มีทีมเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่ เพื่อช่วยดูแลในยามวิกฤตนี้ ให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือสูงที่สุดในทั้งหมด 200 ทีมที่ส่งลงไป รวมถึงต่างจังหวัดที่มีการตรวจเชิกรุกเข้าไป จากเดิมการใช้การตรวจแบบ RT PCR ซึ่งมีประโยชน์ แต่เนื่องจากต้องใช้เวลาทั้งการเก็บตัวอย่าง ต้องใช้วิธีที่เรียกว่าพิเศษ ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ กว่าจะส่งตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการ จริงอยู่ในห้องปฏิบัติการใช้เวลาตรวจประมาณ 6 ขั่วโมง แต่โดยภาพรวมแล้วกว่าจะทราบผลตรวจ บางทีใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งอาจจะไม่รวดเร็วพอในการใช้ดูแลผู้ป่วย
แนะซื้อจากร้านขายยา - แหล่งเชื่อถือได้
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ชุดตรวจนี้มีการกระจายไปยังร้านขายยาต่างๆ ทั่วพื้นที่ และมีขายในสื่อออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อแนะนำว่าข้อเท็จจริงแล้ว อยากให้ไปซื้อที่ร้านขายยามากกว่า หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะว่าจะมีชุดตรวจอีกหลายชุดเข้ามาขายในสื่อออนไลน์ ซึ่งไม่สามารถใช้ได้ คือไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น ชุดตรวจมาตรฐานจะมีอยู่ในแหล่งต่างๆ เช่น ร้านขายยา รวมถึงทางร้านขายยาจะอธิบายวิธีใช้ให้ได้ด้วย
หรือแม้กระทั่งการตรวจเชิกรุก ซึ่งขอเรียนกว่าไม่ใช่ว่าทุกคนมีความจำเป็นต้องตรวจ อย่างเช่นลงไปในชุมชนที่มีประชาชนประมาณ 200 คน ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมด 200 คน
ส่วนใครบ้างที่ต้องตรวจ ซึ่งผู้ที่ต้องตรวจ คือ 1.ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีญาติพี่น้องมีคนใกล้ชิดติดเชื้อโควิด-19 และสัมผัสใกล้ชิดกัน 2.ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ มีอาการเช่นคล้ายไข้หวัด ไอ จาม น้ำมูก หรือเป็นไข้ ชุดตรวจดังกล่าวจะมีประโยชน์ เพราะทำให้สามารถเข้าถึงการตรวจได้
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่จะมีการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าชุดตรวจดังกล่าวมีข้อดี แต่ถ้าผลออกเป็นลบ ซึ่งในสถานการณ์ในขณะนี้การระบาดยังเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น สถานการณ์การแพร่เชื้อยังมีอยู่
สิ่งสำคัญถึงแม้ผลตรวจออกมาเป็นลบ ก็ยังต้องปฏิบัติตนเสมือนว่ามีความเสี่ยงตลอดเวลา และจะต้องป้องกันตัวเองด้วย ที่สำคัญป้องกันไม่แพร่ให้คนอื่น
อันนี้ เป็นหัวใจของการตรวจเลย แม้ว่าผลเป็นลบ แต่คงไม่สามารถแบบไม่สวมหน้ากากอนามัย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้"
ตรวจผลเป็นบวก ประสานสายด่วน 1330
ส่วนกรณีที่ผลตรวจเป็นบวก สายด่วนที่สำคัญที่จะต้องประสาน คือโทร 1330 เพื่อนำท่านเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลตัวเองในเบื้องต้น อันนี้ในกรณีนี้ที่ประชาชนซื้อมาตรวจเอง
กรณีหน่วยตรวจเชิกรุก โรงพยาบาล หรือสถานที่ต่าวงๆ เข้าไปตรวจ แล้วพบว่าผลตรวจเป็นบวก ทีมแพทย์และพยาบาลที่เข้าไปตรวจ จะมีการประเมินอาการว่ามีความจำเป็นที่ต้องเร่งเข้ามาสู่สถานพยาบาลหรือไม่อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เราเข้าไปตรวจในเหตุการณ์จริง มีอาการหอบเหนื่อยเป็นไข้ ผลการตรวจออกมาเป็นบวก กรณีดังกล่าวเราสามารถนำส่งเข้าโรงพยาบาลเพื่อการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า กรณีที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ถ้าผลตรวจเป็นบวก เสมือนหนึ่งว่าท่านติดเชื้อ จะต้องป้องกันตัวเอง ดูแลรักษาตนเองและมีหน่วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทั้งลักษณะที่ดูแลที่บ้าน ขณะที่บางคนอาจจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการดูแลในสถานที่ที่มีสมรรถนะในการดูแลสุภาพที่ดีขึ้น เช่น Community Isolation หรือโรงพยาบาลในระดับที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนัก จะได้รับเข้าสู่ระบบ
กลุ่มที่ตรวจออกมาแล้วได้ผลตรวจเป็นบวก ก่อนเข้าสู่สถานพยาบาลต่างๆ จะมีการตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน คือ RT PCR ในการดูแลสุขภาพท่านต่อไป
พบผลเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้ใน 3-5 วัน
สำหรับประชาชนที่ใช้ชุดตรวจเอง และประเมินแล้วว่าตัวเองมีความเสี่ยง หรีอมีอาการ ซึ่งจริงๆ แล้ว การมีอาการอาจจะใช่หรือไม่ใช่โควิด-19 ก็ได้ แต่ถ้าตรวจออกมาแล้ว ผลตรวจเป็นลบสิ่งสำคัญ คือสามารถตรวจซ้ำได้ในเวลา 3-5 วัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องป้องกันตนเองและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การแยกวงการรับประทานอาหาร
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ภาพรวมเหล่านี้ ชุดตรวจดังกล่าวจะมีประโยชน์มากับประชาชน และมีประโยชน์มากในสถานการณ์การแพร่รระบาดในขณะนี้ เนื่องจากจะสามารถค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและที่มีอาการรุนแรง เพื่อให้สามารถเราเข้าดูแลได้อย่างรวดเร็ว จะลดการกรณีอย่างเช่นว่าผู้ป่วยมีอาการจะต้องรอผลการตรวจของ RT PCR ไปอีก 2-3 วัน เมื่อได้ผลตรวจออกมาแล้ว การดูแลประชาชน อาจจะไม่ทันเวลสา
ส่วนผลตรวจที่ออกมาจะมีความถูกต้องมากที่สุดอยางไรขึ้นอยู่กับ 1.เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง มีสัมผัสใกล้ชิดมีประวัติเสี่ยง 2. ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้วมีอาการ ตรงนี้ยิ่งให้ผลบวก ถ้าบวกออกมา ชุดตรวจบอกว่าเป็นบวก ความแม่นยำจะสูง ชุดตรวจบอกว่าเป็นลบ ความแม่นยำจะสูง
ข้อจำกัดชุดตรวจ - ขั้นตอนตรวจมีความสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจดังกล่าวมีข้อจำกัด เช่น อาจจะมีผลบวกปลอม หมายความว่าไม่ได้ติดเชื้อ แต่ผลการตรวจออกมาเป็นบวก ซึ่งจะพบได้ในจำนวนไม่มาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือว่าขึ้นอยู่กับชุดตรวจนั้นมีคุณลักษณะที่ดีเพียงพอเพียงไร จึงแนะนำว่าการซื้อชุดตรวจตามที่ต่างๆ ไปซื้อที่ร้านขายยา หรือทางรัฐเข้ามาดำเนินการให้ ในขณะที่จะมีชุดตรวจขายตามออนไลน์อยู่ทั่วไปหมด ต้องบอกว่าบางชุด ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเลยเป็นชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดผลบวกปลอมได้
ขั้นตอนการตรวจมีความสำคัญ เช่น การเก็บตัวอย่างในโพรงจมูก และดูตามคำอธิบายและตรวจตามวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนนี้ถ้าทำโดยเจ้าหน้าที่่่ที่ลงไปดูแลเชิงรุก จะพบว่าปัญหาดังกล่าวจะลดลง
ขณะเดียวกัน มีผลลบปลอมแน่นอน เช่น ในวันแรกๆ ของการติดเชื้อ ปริมาณไวรัสยังน้อยมาก เราตรวจแล้วผลยังอาจเป็นลบได้ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาแล้วว่าตนเองมีประวัติเสี่ยง หรือมีอาการ อาจจะตรวจซ้ำภายในเวลา 3-5 วันข้างหน้า ซึ่งขอให้เน้นเรื่องการทำความเข้าใจวิธีตรวจ ซึ่งในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คงเป็นเรื่องที่ประชาชนซื้อชุดตรวจดังกล่าวมาตรวจเอง
ตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจค้นหาผู้ป่วยได้เร็ว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขอนำเรียนว่าการตรวจเชิกรุกด้วยชุดตรวจนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาผู้ป่วยได้เร็วและมาสู่ระบบการดูแลรักษา ซึ่งมีการปรับระบบเพื่อจะได้มีเตียงเข้ามารองรับประชาชนได้ ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านจะมีทีมเจ้าหน้าที่ มีแพทย์ พยาบาล หรือมีทีม CCRT เชิงรุก ซึ่งขณะนี้กว่า 200 ทีม ลงดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมด สิ่งสำคัญ ถ้าตรวจแล้ว ขอเน้นย้ำถ้ามีผลเป็นบวก หรือมีอาการเจ็บป่วย เบื้องต้น ประสานที่เบอร์โทร 1330
แต่ถ้ามีอาการป่วยรุนแรงขณะนี้ ขอให้ติดต่อมาที่หมายเลข 1669 รวมถึงทีมในพื้นที่อย่าง CCRT ที่จะลงช่วยประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าวอย่างดีที่สุด
ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนเรียกรับเงินล่วงหน้า เพื่อรับประกันว่ามีเตียงรักษาว่า ภาพรวมเตียงในกรุงเทพฯ 70% เป็นของโรงพยาบาลเอกชน หากประชาชนถูกเรียกรับเงิน ขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โทร 1426 และขอให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการกระทำดังกล่าว และจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย