เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ประเทศมาเลเซียปิดพรมแดนไม่ให้เดินทางเข้าออกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเข้มงวดกับกลุ่มผู้ลักลอบเข้าไปทำงานในมาเลเซีย ทำให้แรงงานไทยที่คาดการณ์ว่ามีไม่น้อยกว่า 200,000 คน ต้องกลับประเทศไทยและกลายเป็นคนว่างงานขาดรายได้
นูรียะห์ มะแด อายุ 36 ปี อดีตแรงงานร้านต้มยำกุ้งในรัฐยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับบ้านที่ บ.บูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพราะสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ เธอและพี่น้องรวม 5 คนที่เคยทำงานในประเทศมาเลเซียกลายเป็นคนว่างงาน ทั้งหมดพยายามหางานทำมาโดยตลอด แต่เพราะเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมจึงไม่มีวุฒิการศึกษาเพื่อใช้สมัครงาน ประกอบกับนายจ้างส่วนใหญ่มักกำหนดอายุผู้เข้าทำงานที่ 18 - 35 ปี การกลับมาหางานทำที่ประเทศไทยหลังจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่มานานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
นูรียะห์ บอกว่า สามีของเธอเป็นคนเดียวที่ยังทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียเพราะเป็นหุ้นส่วนร้านอาหารไทยที่นั่นและมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายประเทศมาเลเซียซึ่งต้องต่ออายุทุก ๆ 6 เดือน จึงตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพราะเกรงว่าหากกลับมาแล้วจะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเพื่อไปทำงานได้อีก
มีพี่น้อง 7 คนอยู่ที่บ้าน 2 คนทำงานมาเลเซีย 5 คน เมื่อก่อนมีรายได้ทุกคน พอมีโควิด-19 ก็ตกงานหมดเลย ไปมาเลเซียไม่ได้ อยู่นี่เก็บเงินก็ไม่ได้ มีลูกเล็กอีกต้องซื้อนม ซื้อผ้าอ้อม แฟนส่งเงินพอครบเดือนก็หมดแล้วไม่มีเงินเก็บ
อลิสา หะสาเมาะ ประธานเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ ให้ข้อมูลว่า ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียประมาณ 200,000 คน แบ่งเป็นผู้ที่ขออนุญาตเข้าไปทำงานอย่างถูกต้อง 5,000 คน ที่เหลืออีกกว่า 195,000 คน เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติหรือใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ไปทำงานในร้านอาหารไทยหรือร้านต้มยำกุ้งที่มีอยู่กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศมาเลเซีย
จากการสำรวจของเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ ยังพบข้อมูลการโอนเงินจากประเทศมาเลเซียเข้าสู่บัญชีธนาคารของคนไทย เฉพาะธนาคารกรุงเทพเพียงธนาคารเดียวเป็นเงินไทยรวมกันกว่า 70 ล้านบาทต่อปี
ประธานเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ คาดการณ์ว่า หากรวมการส่งเงินจากประเทศมาเลเซียเข้าสู่ประเทศไทยในช่องทางอื่นๆ ตัวเลขอาจมากกว่านี้หลายเท่าตัว ซึ่งบ่งบอกถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการที่คนไทยกว่า 200,000 คนไม่สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่กังวลคือเรื่องการขาดสารอาหารของเด็กเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินซื้ออาหารให้ลูก และ เราก็กังวลเรื่องการออกจากโรงเรียนกลางคันซึ่งก็มีวิกฤตแบบนี้อยู่ และสุดท้ายก็มีภาวะความเครียดซึ่งนำไปสู่ปัญหารุนแรงในครอบครัว
เครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ ระบุว่า มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับไปทำงานในประเทศมาเลเซียเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ดังนั้น ในช่วงที่แรงงานไทยในมาเลเซียกำลังว่างงานอยู่ จึงเสนอให้ใช้โอกาสนี้พัฒนาความรู้และฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีทักษะในการหางานทั้งในและต่างประเทศได้ในอนาคต