เนื้อหาที่ปรากฏในใบสมัครหญิงรับจ้างอุ้มบุญของนายหน้ารายหนึ่งที่ตำรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน ระบุค่าตอบแทนและเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทน ตั้งแต่ 450,000 บาท ถึง 550,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นรายงวด ตั้งแต่วันย้ายตัวอ่อน ไปถึง งวดสุดท้ายจ่ายหลังส่งมอบเด็กถึงลูกค้าในต่างประเทศ มีโบนัสหรือรายรับพิเศษ เป็นแรงจูงใจหากหญิงรับจ้างอุ้มบุญดูแลครรภ์ให้สมบูรณ์
ในเอกสาร ยังระบุว่า ผู้สมัครรับจ้างอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจและค่ายาทั้งหมด หากขอยกเลิกการรับจ้างอุ้มบุญ หรือแท้งจากความประมาท หากคลอดก่อน 35 สัปดาห์ หัก 50,000 บาท และหากเด็กเสียชีวิต จะไม่ได้รับเงินตามตกลงในสัญญา
พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการ 4 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.สอท.4) ระบุว่า มีเคสอุ้มบุญอยู่ที่ประเทศไทยเยอะพอสมควร เป็นกระบวนการที่มองว่า การคลอดบุตรเป็นธุรกิจ
เขาไม่เห็นว่า เป็นการช่วยการเจริญพันธุ์ ถามว่า เขาต้องมีรายได้ไหมมีแน่นอน ถ้าจะทำอุ้มบุญคิดถึงที่แรกคือประเทศไทย รัฐบาลคงไม่อยากเป็นเราเป็นศูนย์กลางทำอุ้มบุญ คือ ถ้ามีการตรวจสอบปลายทางไปในทางที่ดีเราก็สนับสนุน แต่นี่ไม่มีการตรวจสอบ เราก็ไม่รู้ว่าเด็กไปอยู่อย่างไรจริงๆ
5 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเครือข่ายนายหน้าขบวนการจัดหาหญิงไทยรับจ้างอุ้มบุญ 14 จุดพร้อมกันทั่วประเทศ เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจค้น 9 จุด พบนายหน้าชาวต่างชาติ 3 คน กลุ่มหญิงไทยรับจ้างอุ้มบุญ 4 คน ผู้ดูแลทารกสัญชาติฟิลิปปินส์ 2 คน และ สามารถช่วยเหลือทารกได้ 2 คน พร้อมยึดของกลางหลักฐานความเกี่ยวข้องกับขบวนการได้จำนวนหนึ่ง
การจับกุมเกิดขึ้นหลังจาก พบทารกเพศชาย อายุราว 4 เดือน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ด้วยอาการชักเกร็ง มีเลือดออกในสมองและจอประสาทตา แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และ สงสัยว่าเด็กอาจถูกทารุณกรรม ตำรวจสืบสวนพบว่า แม่ของเด็กเป็นคนไทย อายุ 30 ปี และให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า เธอรับจ้างอุ้มบุญ รอการส่งมอบเด็กให้ผู้ว่าจ้างที่เป็นนายหน้าชาวต่างชาติ
ผบก.สอท.4 ให้ข้อมูลว่า การสืบสวนนี้บูรณาการจากหลายหน่วยงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญ อาจถูกแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มนายหน้า เรียกค่าตอบแทนจากผู้ต้องการมีบุตร หรือถูกนำพาไปแสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการองค์กรอาชญากรรมชาวต่างชาติ นายหน้าระดับสั่งการส่วนใหญ่มีสัญชาติจีน
นายทุนจากจีนมีหลายนายหน้า มีหลายนายทุน ส่วนใหญ่โอนเงินให้แม่อุ้มบุญผ่านนายหน้า จะมีตัวกลางจากต่างประเทศสั่งการอย่างเดียว พอเข้ามาที่ไทยจะมีคนรับช่วงต่อ คนดูแลเด็ก พาแม่อุ้มบุญไปตรวจรักษา มีเป็นขบวนการเลย
มีข้อมูลว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ติดปัญหาการส่งมอบเด็กไปประเทศปลายทาง เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจึงคลอดและติดอยู่ในประเทศไทย ขาดการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม
ฐานข้อมูลประวัติบุคคลเดินทาง จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า มีทารกสัญชาติจีนที่เกิดในประเทศไทยตลอดทั้งปี 2563 ถูกนำพาออกนอกประเทศ จำนวน 320 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนข้อมูลเชื่อมโยงกับขบวนการอุ้มบุญว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร แม้การติดตามเด็กที่เดินทางออกนอกประเทศอาจเป็นไปไม่ได้แล้วก็ตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ ปี 2558 หรือ กฎหมายอุ้มบุญ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2558 หลักเกณฑ์สำคัญคือ ห้ามทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า หญิงอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติของคู่สมรส อีกทั้งต้องมีบุตรมาก่อน และการซื้อขายไข่ถือเป็นความผิดทางจริยธรรมแพทย์ อีกทั้งยังขัดกับหลักศีลธรรม และ กฎหมาย
กฎหมายฉบับนี้ ได้ระบุเพิ่มเติมใน ม.27 และ 28 ว่าห้ามมิให้ผู้ใดเป็นคนกลาง นายหน้า โดยเรียกรับเพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการ หรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน รวมทั้งมิให้มีการโฆษณาว่ามีหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม
ข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีสถานพยาบาล ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ขึ้นทะเบียน 103 แห่ง มีแพทย์ที่สามารถดำเนินการได้ 320 คน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. วิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยเมื่อปี 2563 พบอัตราความสำเร็จรักษาผู้มีบุตรยากสูงร้อยละ 46 มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ อนุญาตให้อุ้มบุญ 411 ราย สร้างรายได้จากบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้าประเทศไทยกว่า 4.5 พันล้านบาท
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า แม้ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ แต่ยังพบปัญหาลักลอบทำอุ้มบุญผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายอุ้มบุญ กำหนดให้ต้องเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย และมีสัญชาติไทย หรือหากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติต้องจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ปี และกฎหมายไม่เปิดให้กรณีคู่สมรสต่างชาติทำอุ้มบุญในประเทศไทย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ขออนุญาตทำอุ้มบุญได้ตามระบบ
ขณะนี้ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ( กคทพ.) อยู่ระหว่างหารือถึงข้อจำกัดและการปรับปรุงประสิทธิภาพของกฎหมายอุ้มบุญ รวมทั้งพิจารณาความเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์