วันนี้ (9 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Air4thai กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศภาคเหนือเมื่อเวลา 08.00 น. พบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 13 พื้นที่ โดย 10 พื้นที่ดัชนีคุณภาพอากาศในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ สูงสุดที่ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 267 มคก.ต่อลบ.ม.เกินมาตรฐาน 5 เท่า นอกจากนี้ค่าฝุ่น PM 10 เกินมาตรฐาน 285 มคก.ต่อลบ.ม.
ส่วนบริเวณต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, รพ.เทพรัตนฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
จุดความร้อนอ.แม่สะเรียง 2,192 จุด
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือว่า จ.แม่ฮ่องสอน ได้เกิดจุดความร้อน (Hotspot) สูงถึง 6,199 จุด สูงสุดในอ.แม่สะเรียง 2,192 จุด ส่งผลให้เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) ค่าฝุ่นสูงในระดับสีแดงกว่า 300 มคก.ต่อลบ.ม. จึงยกระดับการระดมพลด้วยการสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมลาดตระเวนและดับไฟป่า พร้อมทั้งได้ส่งชุดปฎิบัติการพิเศษดับไฟป่า 15 ชุด รวม 225 นาย เข้าสนับสนุนการปฎิบัติงานแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
บางพื้นที่ยังลักลอบเผาป่า และมีจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มีลมตะวันตกพัดเข้ามาใน จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ฝุ่นละอองหมอกควันยังคงปกคลุมไปทั่วพื้นที่ เพราะเป็นจังหวัดติดกับชายแดนเบื้องต้นหยุดการจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่วันที่ 8 - 14 มี.ค.นี้
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
สำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนรวม รวม 1,505 จุด พบมากที่สุด แม่ฮ่องสอน 418 จุด ลำปาง 291 จุด และเชียงใหม่ 219 จุด และจากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดยจิสด้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 7 มี.ค.นี้ พบจุดความร้อนรวม 40,669 จุด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 16,564 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 15,646 จุด พื้นที่เกษตร 6,672 จุด พื้นที่ชุมชน 1,656 จุด และพื้นที่ริมทาง 131 จุด ตามลำดับ
ด้านนายสุเจตน์ มงคลไชยสิทธิ์ ผอ.ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ เกิดจุดความร้อนขนาดใหญ่ และจาก 3 ปัจจัย คือ ภูมิประเทศเชียงใหม่ เป็นแอ่งกระทะเอื้อต่อการสะสมของมลพิษทางอากาศ แหล่งกำเนิดที่มีจุดความร้อนจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ต้นลมจากประเทศเพื่อนบ้าน
สิ่งสำคัญแม่ฮ่องสอนและตอนใต้ของเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกเฉียงใต้ และสุดท้าย สภาพอากาศในเวลากลางคืน การระบายอากาศในแนวดิ่งแย่มาก แต่มีลมที่สามารถพัดพาเอาฝุ่นควัน PM2.5 จากแหล่งกำเนิดพื้นที่ต้นลมเข้ามาสะสมในเชียงใหม่ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"แม่ฮ่องสอน" ฝุ่นพิษเกิน 6 เท่าสูงสุดในรอบสัปดาห์
ปี'63 คุณภาพอากาศกทม.ดีขึ้น-ภาคเหนือฝุ่นเกิน 112 วัน