ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลโพล ม.สยาม ระบุเด็กติดตามการเมืองออนไลน์-เรียนไร้สุข-ไม่อยากต่อ ป.ตรี

สังคม
5 มี.ค. 64
22:11
841
Logo Thai PBS
ผลโพล ม.สยาม ระบุเด็กติดตามการเมืองออนไลน์-เรียนไร้สุข-ไม่อยากต่อ ป.ตรี
ผลโพล “สิงห์สยามโพล” ม.สยาม สำรวจนักเรียนมัธยมปลาย ระบุโควิดทำให้เรียนออนไลน์ไร้ความสุข และไม่มีความหวังเรียนต่อปริญญาตรี เพราะค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระครอบครัว

วันนี้ (5 มี.ค.2564) สิงห์สยามโพล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หัวข้อ “สถานการณ์ โควิด-19 ระลอกที่ 2 กับการเมือง 2564”

ผศ.ดร.จิดาภา ถิรศิริกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเขตภาคกลาง หัวข้อ “สถานการณ์ โควิด-19 ระลอกที่ 2 กับการเมือง 2564” โดยสำรวจข้อมูลระหว่าง วันที่ 2-20 ก.พ.2564 จากกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเขตภาคกลางที่มีอายุ ต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,328 ตัวอย่าง

 

โดยใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multi stage Random Sampling) โดยเบื้องต้นใช้วิธีการแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 เพื่อเลือกพื้นที่ในการเก็บข้อมูล

โดยแบ่งเป็น โรงเรียนของรัฐขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และใหญ่พิเศษ และดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เพื่อเก็บข้อมูลจากนักเรียนในโรงเรียนทั้ง 4 กลุ่ม

นักเรียน ม.ปลาย ไม่มีความสุขเรียนออนไลน์

ผลการสำรวจ พบว่า 1.นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความสุขต่อการศึกษาในรูปแบบ online ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 42.5) รองลงมามีความสุขน้อย (ร้อยละ 33.4) ไม่พอใจ(ร้อยละ 14.5) และมีความสุขระดับมาก (ร้อยละ 9.6)

2.ด้านความมั่นใจในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 ผลสำรวจพบว่า ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 53.9) รองลงมาคือระดับน้อย (ร้อยละ 27.1) ระดับมาก (ร้อยละ 14.8) และไม่ศึกษาต่อ (ร้อยละ 4.2)

พอใจมาตรการช่วยเหลือของรัฐไม่ถึงครึ่ง

3.ด้านความต้องการประกอบอาชีพในอนาคต หากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย คือ ธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 37.5) รองลงมาคือข้าราชการ (ร้อยละ 28.7) อาชีพอิสระ (ร้อยละ 19.0) รัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 4.2) บริษัทเอกชน (ร้อยละ 9.7) และเกษตรกร (ร้อยละ 0.9)

4.ด้านความพึงพอใจในการจัดการและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 47.3) รองลงมาคือระดับน้อย (ร้อยละ 31.0) ระดับไม่พอใจ (ร้อยละ 17.2) และระดับพอใจมาก (ร้อยละ 4.5)

5.ด้านความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารด้านโรคระบาดมากที่สุด ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 (ร้อยละ 35.3) รองลงมาคือ ข่าวบันเทิง (ร้อยละ 32.0) ข่าวการเมือง (ร้อยละ 19.6) และข่าวอื่น ๆ (ร้อยละ 13.0)

6.ด้านความเชื่อมั่นในการเข้าการร่วมชุมนุมทางการเมือง ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 52.4) รองลงมาคือระดับน้อย (ร้อยละ 21.1) ระดับมาก (ร้อยละ 17.2) และไม่เข้าร่วม (ร้อยละ 9.3)

ติดตามเรื่องการเมืองทางออนไลน์

7.เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมือง ช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในระบบออนไลน์ (Facebook, twitter, Line, IG) ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.5) รองลงมาคือระดับมาก (ร้อยละ 33.1) ระดับน้อย (ร้อยละ 14.2) และไม่เข้าร่วม (ร้อยละ 4.2)

8.หากรัฐบาลมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากรัฐบาลในระดับปานกลาง (ร้อยละ 45.5) รองลงมาคือระดับมาก (ร้อยละ 34.9) ระดับน้อย (ร้อยละ 14.2) และไม่เข้าร่วม (ร้อยละ 5.4)

ดร.จิดาภา กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง (ร้อยละ 59.7) รองลงมาเป็น เพศชาย (ร้อยละ 31.8) และเป็นกลุ่มเพศ LGBTQ (ร้อยละ 8.5) ส่วนใหญ่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ร้อยละ 53.0)

รองลงมา มัธยมศึกษาปีที่ 4 (ร้อยละ 24.9) และมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ร้อยละ 22.1) ส่วนใหญ่ได้รับค่าขนมไปโรงเรียน มากกว่าวันละ 101 บาท (ร้อยละ 57.0) และได้รับค่าขนมไม่เกินวันละ 100 บาท (ร้อยละ 43.0)

สำหรับข้อค้นพบจากการสำรวจ คือ ประการแรก ร้อยละ 42.5 เยาวชนมีการปรับตัวการเรียนออนไลน์ตามสถานการณ์ได้ดี แต่ไม่มีความสุขในระบบเพราะ (1) เรียนไม่รู้เรื่อง และ (2) มีภาระในการเรียนมากกว่าปกติ เช่น การทำแบบฝึกหัดเรียนด้วยตนเอง ร้อยละ 33.4

วิกฤตโควิดทำให้คิดหนักเรื่องเรียนต่อปริญญาตรี

ประการที่สอง การศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เป็นประเด็นที่เป็นภาระมากกว่าการออกมาทำงานหลังจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ในช่วงสถานการณ์ Covic-19 ส่วนใหญ่ จึงลังเล ในการเลือกศึกษาต่อ คิดเป็นร้อยละ 27.1

ประการที่สาม มองเห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ Covic-19 การประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว กลายเป็นอาชีพที่มีความสนใจใกล้ตัวกับเยาวชน (ร้อยละ 37.5) เพราะไม่จำเป็นต้องเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และสนใจรับราชการ (ร้อยละ 28.7)

ประการที่สี่ เยาวชนโดยทั่วไปมองเห็นว่า มาตรการทั้งการแก้ไขปัญหาและความช่วยเหลือของรัฐ พอช่วยเหลือผู้ปกครองได้บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงมีความพึงพอใจในระดับปานกลางและน้อยร้อยละ 47.3, 31.0 ตามลำดับ

ประการที่ห้า บทบาทสื่อในประเด็นเรื่องการแพร่ระบาด สามารถเข้าถึงเยาวชนได้ดีร้อยละ 35.3 ขณะที่ประเด็นด้านการเมืองนั้น ไม่มีผลต่อการสร้างแรงดึงดูดต่อเยาวชนได้มากนัก คิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น

ประการที่หก การปลุกระดมเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน ยังไม่สามารถกระตุ้นคิดเป็นร้อยละ 52.4 สอดคล้องกับ ประการที่เจ็ด การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านออนไลน์ Facebook, twitter, Line, IG คิดเป็นร้อยละ 33.1

และประการที่แปดคือ แม้มีการฉีดวัคซีน เยาวชนก็มีความต้องการในการฉีดสูงคิดเป็นร้อยละ 45.5 แม้ว่าจะมีความลังเลอยู่บ้างคิดเป็นร้อยละ 14.2

ระบุเรียนต่อปริญญาตรีไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายสูง

ดร.จิดาภา กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ผลการสำรวจ พบว่า 1.เยาวชนมีการปรับตัวตามสถานการณ์ได้ดี แม้จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการปฏิบัติตามมาตรการนโยบายรัฐเรื่องการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เป็นหลัก จึงพบว่า โดยส่วนใหญ่ไม่มีความสุขในระบบเพราะ (1) เรียนไม่รู้เรื่องและ (2) มีภาระในการเรียนมากกว่าปกติ เช่น การทำแบบฝึกหัดเรียนด้วยตนเอง

2.การศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เป็นประเด็นที่เป็นภาระ มากกว่าการออกมาทำงาน หลังจบมัธยมศึกษาตอนปลายในช่วงสถานการณ์ Covic-19 โดยส่วนใหญ่ จึงลังเลในการเลือกศึกษาต่อ

3.กลุ่มตัวอย่างมองเห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ Covic-19 การประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวกลายเป็นอาชีพที่มีความสนใจใกล้ตัวกับเยาวชน เพราะไม่จำเป็นต้องเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสูง และเสียเวลาอีก 3-4 ปี แต่กลุ่มตัวอย่างอีกลุ่มยังมองเห็นว่า การรับราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นทางเลือกที่มีความมั่นคงสูงในสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าอาชีพอื่นๆ

4.เยาวชนโดยทั่วไปมองเห็นว่า มาตรการทั้งการแก้ไขปัญหาและความช่วยเหลือของรัฐพอช่วยเหลือผู้ปกครอง ได้บ้างแต่ไม่มากนัก จึงมีความพึงพอใจในระดับปานกลางและน้อยตามลำดับ

5.บทบาทสื่อในประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ดี ขณะที่ประเด็นด้านการเมืองนั้น ไม่มีผลต่อการสร้างแรงดึงดูดต่อเยาวชนได้มากนัก

เรื่องการเมืองครอบครัวยังมีอิทธิพลมากกว่าเพื่อน

6.ขณะเดียวกัน การปลุกระดมเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในบริบทปัจจุบัน ยังไม่สามารถกระตุ้น การตัดสินใจของเยาวชนตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวแบบจริงจัง เพราะการเรียนในระบบออนไลน์ ทำให้เยาวชนอยู่กับครอบครัวที่มีอิทธิพลในการกล่อมเกลาทางการเมืองสูงกว่ากลุ่มเพื่อน

7.ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวผ่านระบบออนไลน์นั้น ยังมีบทบาทในทางการเมืองได้ใกล้ตัวกับเยาวชน เพราะเหตุจากความปลอดภัยที่มีมากกว่าการเข้าร่วมชุมนุมด้วยตนเอง จนกล่าวได้ว่า การเป็นนักเลงคีย์บอร์ดนั้นได้รับการยอมรับในหมู่เยาวชนสูง

8.แม้มีการฉีดวัคซีน เยาวชนก็มีความต้องการในการฉีดสูง แม้ว่าจะมีความลังเลอยู่บ้าง การสร้างความเชื่อมั่น ถึงความปลอดภัยย่อมทำให้เยาวชนกล้าตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง