วันนี้ (13 ธ.ค.2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่เดินทางมาจาก จ.สงขลา โดยค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว 3 คืน และวันนี้เป็นวันที่ 4 ขณะที่ช่วงสายวันนี้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่หารือเพื่อรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

นายสุภรณ์ ระบุว่า ขอมาฟังปัญหาและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) เนื่องจากวันนี้ยังติดเป็นวันหยุดราชการ โดยพรุ่งนี้จะมีทั้ง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. , อธิบดีกรมโยธาและผังเมือง ตัวแทนจังหวัดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมสบายใจว่า มีตัวแทนรัฐบาลลงมารับฟังเสียงสะท้อนแล้ว พรุ่งนี้ก็จะหารือร่วมกัน
ขณะที่นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนยันว่าการชุมนุมในครั้งนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลตัดสินใจยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมใน อ.จะนะ จ.สงขลา บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 1.6 หมื่นไร่ ที่เห็นว่าเป็นการขับเคลื่อนเร็วเกินไป ไม่ฟังเสียงของประชาชน รวมถึงเรียกร้อง 2 ข้อให้ยกเลิกการทำผังเมือง ยุติทั้งโครงการ และการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบก่อน โดยเครือข่ายไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการพัฒนา แต่ต้องทำกระบวนการให้กระจ่าง

การรวมตัวครั้งนี้เพื่อต้องการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยตรงเท่านั้น จะไม่เพียงยื่นหนังสือ เพราะที่ผ่านมาเคยยื่นหนังสือไปแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา
การมาทำเนียบฯ ครั้งนี้ ต้องการแค่คำตอบเดียว คือ หยุดโครงการฯ
แกนนำเครือข่ายฯ ยังระบุด้วยว่า โครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นมรดกตกทอดจากยุค คสช. และยังเป็นโครงการที่ถูกอนุมัติทิ้งทวนการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในยุคนั้น จึงเห็นถึงความผิดปกติตั้งแต่ต้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจึงถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติต่อเรื่องนี้หลายครั้งเพื่อรวบรัดขั้นตอนการดำเนินงานจนผิดปกติ อีกทั้งยังมีข้อพึงสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลว่ากำลังเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทหรือไม่

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นกิจการของเอกชน 2 บริษัท คือ TPIPP และ IRPC มีขนาดพื้นที่กว่า 16,700 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน และ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งกังวลว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนในพื้นที่ในหลายมิติ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่งทะเล มลพิษ สูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน สูญเสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด แม้ที่ผ่านมาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้พยายามยื่นหนังสือผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลได้ทบทวน และเคยมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ สำหรับข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในทันที และ 2. เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป

ทางแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนยันด้วยว่า เครือข่ายฯ ไม่ได้ปฏิเสธว่าบ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่การพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรม และต้องเคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงหวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจรับฟังเรียกร้องดังกล่าว โดยยืนยันว่า จะปักหลักรอคำตอบด้วยความสงบ
ขณะที่เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ที่คลองสะกอม อ.จะนะ มีชาวประมงพื้นบ้านจะนะ ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนสถานะของเรือประมงพื้นบ้าน รวมตัวกันประกาศต่อรัฐบาลว่าไม่สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นอีกทางที่ดำเนินการคู่ขนาน กับเครือข่ายจะนะฯ ที่มาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลขณะนี้


ขณะที่ตำรวจขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายออกจากพื้นที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ อ้างว่าพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) จำเป็นต้องเปิดการจราจร เพราะเป็นวันทำการปกติหลังจากช่วงวันหยุดยาว แต่กลุ่มเครือข่ายจะนะฯ ยังไม่ตัดสินใจว่า จะย้ายพื้นที่ชุมนุมหรือไม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: