วันนี้ (4 ธ.ค.2563) สัญญาซื้อขาย ลงวันที่ 25 ส.ค.2563 ระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด ระบุการซื้อขายถุงมือยางไนไตร ไร้แป้ง รวม 52 ล้านกล่อง 100 ชิ้นต่อกล่อง กล่องละ 225 บาท รวมมูลค่ากว่า 11,700,000,000 บาท นี่เป็น 1 ใน 7 บริษัทที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ตรวจสอบพบการทำสัญญาจะซื้อถุงมือยางของบริษัททั้ง 7 แห่ง จำนวนรวมกว่า 826 ล้านกล่องราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 210-230 บาทต่อกล่อง รวมวงเงินกว่า 186,100 ล้านบาท
ไทยพีบีเอส สุ่มตรวจสอบบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด ตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าจดทะเบียน เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ย่านคู้บอน แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ ดำเนินการแปรรูปการ ถนอมผลไม้ และผัก ปรากฏชื่อนางฉันทิศา หวง เป็นกรรมการผู้มี อำนาจและถือหุ้นใหญ่
บริษัทต้องสงสัยไม่เปิดดำเนินการ
ไทยพีบีเอสเดินทางไปตรวจสอบตามที่อยู่ พบว่าเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา สูง 3 ชั้น มีป้ายบริษัท ไทยเทรด จงดี จำกัด ติดไว้ข้างกำแพง ด้านหน้าอาคารมีรถยนต์ส่วนบุคคลจอดอยู่ 2 คัน ขณะที่ตัวอาคารพาณิชย์ ปิดประตูเหล็ก 1 คูหา จากการตรวจสอบ พบว่าบริษัทไม่ได้เปิดดำเนินการ และไม่มีพนักงานในวันนั้น ความเชื่อมโยงของบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด กับ อคส.
ตามคำกล่าวบอกเล่าของนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ระบุว่า บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัดเป็นเพียงบริษัทนายหน้าทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสาน มีผู้หญิงชื่อทราย และผู้ชายคนหนึ่ง ที่เคยเป็นสื่อมวลชน มีหน้าที่เป็นคนประสานกับพนักงาน อคส. เพื่อทำสัญญาซื้อขาย ไทยพีบีเอสติดต่อไปตามเบอร์โทรศัพท์เพื่อรับฟังคำชี้แจง แต่ติดต่อไม่ได้ และเมื่อเดินทางไปตรวจสอบที่บ้านพักย่านรามอินทรา ได้รับคำตอบจากผู้ดูแลบ้านว่าไม่ทราบว่านางฉันทิศาเดินทางไปที่ไหน และไม่สามารถติดต่อได้
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์
ปฏิเสธชี้แจงกรณีทำสัญญาซื้อขาย
ไทยพีบีเอสติดต่อผ่านข้อความทางเฟซบุ๊ก ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อฟังคำชี้แจง แต่ได้รับข้อความปฏิเสธ เมื่อตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊ก พบว่าวันที่ 25 ส.ค. มีการโพสต์ภาพสถานที่ อคส. ซึ่งตรงกับวันที่ บริษัทไทย สไมล์ เทรด จำกัด ทำสัญญาซื้อขายกับ อคส. นอกจากนี้ ยังพบว่าตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. จนถึงเดือน ก.ย. มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาและภาพถุงมือยางเกิดขึ้น
ไม่เพียงแต่พบความเชื่อมโยงการทำสัญญา ไทยพีบีเอสได้รับเอกสารจากพนักงานของ อคส. โดยร้องเรียนให้ตรวจสอบการแอบอ้างบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่ผลิตถุงมือยาง หลังบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด แนบมา เพื่อสร้างความหน้าเชื่อถือ และเมื่อตรวจสอบเข้าไปในข้อมูลของบริษัท พบว่ามีการประกาศให้ระวังผู้แอบอ้างเป็นพนักงานของบริษัท แอบอ้างรู้จักกับคนภายใน รวมไปถึงการแอบอ้างใช้ภาพ วีดีโอ และเครื่องหมายการค้า
ส่งมอบ "ถุงมือยาง" ไม่ตรงกับสเปค
ไม่เพียงแต่การทำสัญญาที่พบข้อพิรุธ ไทยพีบีเอสยังพบว่าถุงมือยางที่บริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ส่งมอบให้ อคส. ไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจัดซื้อ โดยเฉพาะคุณลักษณะของถุงมือยางที่ระบุเป็นชนิดไนไตร เบื้องต้น เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้