นายสมชาย แสวงการ ตัวแทนของส.ว.ใน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า สิ่งที่จะเสนอในการประชุมนัดแรกคือ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯจะต้องมีความรอบคอบ ไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและไม่ทำผิดเสียเอง
ทั้งนี้ตนมีความกังวลในข้อกฏหมาย ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ในมาตรา 256 ที่ให้ตั้งส.ส.ร. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ซึ่งขณะนั้น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และตน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจากประชามติของประชาชน โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ทำได้หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า องค์อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นไปตามประชามติของประชาชน ดังนั้นเมื่อจะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จำเป็นจะต้องนำกลับไปถามประชาชาชนก่อน ว่าเห็นชอบให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือให้รัฐสภาแก้รายมาตรา
ยืนยันคำวินิจฉัยปมตั้งส.ส.ร.ปี 50 กับปี 60 อยู่หมวดเดียวกัน
นายสมชายระบุว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว อยู่ในมาตรา 291 ใน ปี 2550 โดยมีลักษณะเดียวกัน กับ มาตรา 256 ปี 2560 ที่อยู่ในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน คือให้มีการตั้งส.ส.ร.และมีโครงสร้างส.ส.ร.เหมือนกัน
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทางส.ว.กับส.ส.ไม่ควรกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังผูกพันกับทุกองค์กรและใช้มาถึงปัจุบันผมเชื่อว่าปัญหาจะไม่จบ หากเดินหน้าโหวตผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว ก็จะมีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เช่นเดียวกันอีก” นายสมชายกล่าว
กรณีคำวินิจฉัยเสียบบัตรแทนกันส่งผลถอดถอน 308 ส.ส.-ส.ว.
นายสมชายกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังมีอีกประเด็น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 15-18 /2556 แก้ไขบทบัญญัติของส.ว. เป็นได้ต่อเนื่องไม่ต้องเว้นวรรค สามารถลงสมัครได้อย่างต่อเนื่อง และให้แก้ไขคุณสมบัติ สว.ป้องกันการเกิดคำที่ชาวบ้านเรียกว่า”สภาผัว สภาเมีย” ในการช่วยกันดูแลแต่ละพื้นที่ โดยให้ภรรยาอยู่สภาหนึ่ง ส่วนสามีอีกสภาหนึ่ง
ซึ่งเรื่องดังกล่าวพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ตน และสมาชิกพรรคประชาธิปปัตย์ ได้ยื่นหลักฐานพร้อมคลิปกรณีส.ส.เสียบบัตรแทนกันในการลงคะแนน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ อีกทางหนึ่งก็มีผู้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาการป.ป.ช. ทำให้ท้ายที่สุดป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้ ถอดถอน 308 ส.ส.และส.ว.
พบสิ่งผิดปกติ เสนอให้สำนักเลขาธิการสภาฯตรวจสอบ รายชื่อ 4 ร่าง
นายสมชายกล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าว เกรงว่าส.ส.และส.ว.ปัจจุบัน จะกระทำผิดซ้ำอีก จึงอยากให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบเอกสาร การลงรายชื่อในการยื่นญัตติ ทั้ง 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะทราบว่า มีการเปลี่ยนเอกสาร วันที่10 ก.ย.ถอดออกไป แล้วส่งกลับมาใหม่ในวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีความผิดปกติจากที่รายชื่อบางกลุ่มอย่างน้อย 3-5 คน ที่ชื่อเหมือนกันแต่ลายเซ็นต์ไม่เหมือนกัน
“ต้องให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบให้รอบคอบ ว่าไม่เกิดปัญหาขึ้นนะ ไม่ใช่วันหนึ่งส.ส.และส.ว.ต้องมาถูกชี้มูลความผิดและถูกถอดถอน เมื่อมีบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนอย่างนี้ ผมคนหนึ่งละไม่กล้าเสี่ยง ถ้ายังเดินหน้าต่อ ผมไม่โหวตให้แน่นอน” นายสมชายกล่าว
ส.ว.เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกฉบับ
นายสมชายกล่าวอีกว่า ตนได้เตรียมยกร่างแก้รัฐธรรมูญในส่วนของส.ว. ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 256 (1) ที่ให้ ส.ส กับส.ว. 1 ใน 5 รวมกัน 150 คนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยขณะนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างเช่นเรื่องการเดินหน้าปฎิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 และ 271 ซึ่งเดิมหน้าที่ในการติดตามการปฎิรูปเป็นหน้าที่ของส.ว. ดังนั้นในส่วนนี้ ควรเพิ่มให้เป็นหน้าที่ของส.ส.เพื่อให้รับทราบความคืบหน้าด้วย
ส่วนประเด็นอื่นๆ นายสมชาย ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายมาตราที่เป็นปัญหาอย่างเช่น เรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่ส.ส.มีการถกเถียงกันมาก เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่ปัจจุบันใช้บัตรใบเดียว จะกลับไปใช้บัตรแบบเดิมสองใบหรือไม่
เสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยไม่ต้องตั้งส.ส.ร.
ขณะเดียวกัน นายสมชายยังเสนออีกว่า การแก้ไขมาตรา 256 โดยไม่ล้มรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ เพราะเขียนรัฐธรรมนูญมาตรานี้เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ต้องการให้ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ทั้งนี้สามารถทำได้ โดยการนำไปถามประชาชนที่ลงมติประชามติหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 256 อนุ 3 และอนุ 8 ที่ใช้เสียงของส.ส.กับส.ว.หรือของรัฐสภา รวมกัน 2 ใน 3 โดยไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร.
นายสมชายกล่าวด้วยว่ารัฐธรรมนูญแก้แบบง่ายๆ ด้วยการล้มรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่สร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า ถ้ายอมให้รัฐธรรมนูญที่แก้ไข มีการเอาม๊อบมาล้มรัฐธรรมนูญ พอแก้เสร็จอีกฝ่ายเอาม๊อบมาก็ไม่มีวันจบ วิธีที่จะจบคือเอาสภาแก้ปัญหา และเอาเหตุผลมาหารือกันไม่มีความขัดแย้ง
ฝ่ายรัฐบาล เตรียมเสนอให้ทุกกลุ่มมาร่วมให้ความเห็น
ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมนัดแรกจะมีการกำหนดกรอบและประเด็นการในพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง รวมถึงเตรียมเชิญผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมจากกลุ่มต่างๆ ทั้ง ฝ่ายค้าน ,กลุ่มไอลอว์ และกลุ่มไทยภักดี มาให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการในการประชุมครั้งต่อๆ ไปด้วย
“ถึงแม้ฝ่ายค้าน ไม่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีการเชิญมาให้ความเห็นและข้อมูลคาดว่าจะทำให้บรรยากาศที่ไม่ค่อยลงรอยกัน ระหว่างฝ่ายค้าน กับส.ว.ตั้งแต่ในช่วงอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 – 24 ก.ย.คงจะดีขึ้น” นายวิรัชกล่าว
ทั้งนี้ นายวิรัชคาดว่า คณะกรรมาธิการฯจะได้ข้อสรุปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 30 วันอย่างแน่นอน หรืออาจจะเร็วกว่านั้น เพราะเบื้องต้นที่มีการหารือได้เตรียมนัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน
งานนี้ จะจบช้า หรือเร็ว ระยะเวลาคงไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญ เพราะดูเหมือน ส.ว.จะทำการบ้านต่อเนื่องจากการประชุมรัฐสภามาเป็นอย่างดี เรียกได้ว่า ปมร้อนในครั้งนี้ เกมคงไม่จบลงง่ายๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: