วันนี้ (9 ส.ค.2563) จากกรณีที่มีข่าวว่ากรมการขนส่งทางบก มีแนวคิดที่จะเรียกให้ผู้ที่มีใบขับขี่รถยนต์แบบตลอดชีพ และมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปกลับมาทดสอบสมรรถนะในการขับรถใหม่ หลังจากพบผู้สูงอายุขับขี่รถยนต์การเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในสื่อโซเชียลเป็นวงกว้าง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่าจะไม่ยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ และไม่เรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่หรือทดสอบขับรถใหม่ ตามข้อมูลที่มีการแชร์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน
จะมีการศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่คัดกรองผู้ที่ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพหรือมีสภาวะโรคที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่อย่างปลอดภัย เช่น โรคทางสมอง โรคปัญหาการมองเห็นที่รักษาไม่หาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนน
สำหรับการศึกษาต้องหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา และต้องพิจารณาข้อกฎหมายประกอบอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิผู้ถือใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ
ดังนั้น ที่มีการแชร์ข้อมูลว่าจะมีการยึดคืนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพที่ออกให้แล้ว หรือการให้เข้ามาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับใหม่จึงไม่เป็นความจริง การดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถยังคงเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามปกติ
ยึด 7 มิติวิเคราะห์ออกใบขับขี่
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ยังได้มีการนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุและผลการศึกษาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ โดยแบ่งเป็น 7 มิติ ประกอบด้วย
- การกำหนดสภาวะโรค
- การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
- การอบรมและทดสอบความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ (ภาคทฤษฎี) โดยจะมีการทบทวนและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรการอบรม ให้สอดคล้องกับการขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งจัดทำระบบอบรมภาคทฤษฎีออนไลน์แบบ e-Learning
- การอบรมการขับรถและทดสอบความสามารถในการขับรถของผู้ขอรับใบอนุญาตภาคปฏิบัติ
- การบริหารจัดการ
- การปรับปรุงรูปแบบใบอนุญาตขับรถ โดยจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968
- การควบคุมพฤติกรรมการขับรถด้วยมาตรการตัดแต้ม (การติดตามประเมินผล) เพื่อพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถของประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ ยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมขนส่งฯ จ่อเรียกกลุ่มเสี่ยงถือใบขับขี่ตลอดชีพสอบใหม่