วันนี้ (3 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศจะคว่ำบาตรแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคน มองว่า เหตุผลอาจจะไม่ใช่เรื่องความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ทรัมป์อาจต้องการใช้เรื่องนี้ตอบโต้รัฐบาลจีน ซึ่งมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในหลายประเด็น แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าทรัมป์จะใช้กฎหมายมาตราใด หรือจะใช้คำสั่งประธานาธิบดีคว่ำบาตรแอปพลิเคชัน TikTok ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในสหรัฐอเมริกา
ล่าสุด บริษัทไมโครซอฟท์ของสหรัฐฯ แสดงความสนใจที่จะซื้อกิจการจากบริษัทไบท์แดนซ์ของจีน เพื่อให้แอปพลิเคชันนี้ยังคงให้บริการในสหรัฐฯ ต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้ไมโครซอฟท์อยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะยินยอมให้มีการซื้อกิจการหรือไม่
ทรัมป์ ให้เหตุผลในการคว่ำบาตร TikTok ว่า แอปพลิเคชันนี้เป็นภัยความมั่นคง เนื่องจากบริษัทไบท์แดนซ์เจ้าของ TikTok เป็นบริษัทของจีนที่อาจจะนำข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ส่งต่อให้รัฐบาลจีน
ขณะที่บริษัท ยืนยันว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ถูกเก็บไว้ที่ระบบเซิฟเวอร์ในสหรัฐฯ และมีข้อมูลสำรองอยู่ที่สิงคโปร์ และทางบริษัทไม่มีพันธะสัญญาทางกฎหมายที่จะต้องส่งข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน
ทำไมการคว่ำบาตรแอปพลิเคชันนี้ถึงได้รับความสนใจจากสำนักข่าวระดับโลก นั่นก็เป็นเพราะ TikTok เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมในหลายประเทศ มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกมากถึง 800 ล้านคน มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2,000 ล้านครั้ง และร้อยละ 44 ของผู้ใช้อายุ 16-24 ปี ปัจจุบัน TikTok ให้บริการใน 155 ประเทศ 75 ภาษา ในแต่ละวันมีคนเข้าไปแอปพลิเคชันนี้เพื่อดูคลิปมากกว่า 1 ล้านคลิป
แม้บริษัทไบท์แดนซ์จะยืนยันว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน แต่แอปพลิเคชัน TikTok มักถูกโยงเข้ากับความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างกรณีของอินเดีย ที่มีคำสั่งคว่ำบาตร 59 แอปพลิเคชันของจีน เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในนี้มี TikTok รวมอยู่ด้วย สาเหตุมาจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังของอินเดียและจีน บริเวณพื้นที่พิพาททางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย จนทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นายและทหารจีนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีข้อมูลอินเดีย ยังระบุว่า แอปพลิเคชันของจีนจารกรรมและลักลอบส่งข้อมูลของผู้ใช้งานออกนอกประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและการปกป้องประเทศ เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องใช้มาตรการฉุกเฉินด้วยการสั่งคว่ำบาตรแอปพลิเคชันของจีน
ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาควบคุมการใช้งาน TikTok เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจจะใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นเครื่องมือล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของคนที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น