“China is the real Sick man of Asia” หรือ จีนเป็นคนป่วยตัวจริงของเอเชีย วาทกรรมที่ถูกนำมาพาดหัว ของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ของอเมริกา ในเดือนนี้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สื่อจีนตอบโต้กลับในทันที และนำไปสู่ความไม่พอใจของจีน จนกลายเป็นวิกฤติทางการทูต เกิดการตอบโต้กันอย่างดุเดือด ทั้งจากโฆกกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ระบุว่า หนังสือพิมพ์ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดและการกระทำ พร้อมย้ำว่า จีนจะไม่เป็น " แกะเงียบ" จากการเหยียดหยามและการใส่ร้ายป้ายสี
สื่อจีนรายงานว่า พนักงานของหนังสือพิมพ์วอล สตรีท เจอร์นัล จำนวนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการพาดหัวเช่นนี้ และแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเสรีภาพในการพูด แต่เป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผย ขัดต่อศีลธรรมและละเมิดจรรยาบรรณสื่อในระดับสากล
พร้อมส่งอีเมลถึงคณะผู้บริหารระดับสูงเรียกร้องให้แก้ไขชื่อบทความ “จีนเป็นคนป่วยตัวจริงของเอเชีย” และขอโทษผู้เสียหาย แต่โฆษกของหนังสือพิมพ์ ฯ อ้างว่าเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลจะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน
สื่อจีนรายงานว่า การพาดหัวด้วยวาทกรรมนี้ ของ The Wall Street Journal เป็นพฤติกรรมอันตรายในสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก ที่ทำให้เกิดอคติ และการเหยียดคนผิวเหลืองหรือคนจีนมากขึ้น
สิ่งนี้จะไม่เพียงทำลายความพยายามในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในระดับสากล แต่ยังจะทำลายสันติภาพและการพัฒนาของโลกโดยไม่รู้ตัว
อีกด้านสำนักข่าว South China Morning Post ของจีน ฮ่องกง กลับรายงานว่า ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เคยออกมาระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความรับผิดชอบ ต้องเข้าใจว่า สื่อมวลชนมีอิสระในการรายงานข้อเท็จจริง และการแสดงความเห็น
สำหรับวาทกรรม Sick man of Asia หรือ คนป่วยแห่งเอเชีย เป็นคำที่คนจีนใช้กันเองมากกว่าชาวตะวันตก
วาทกรรมนี้ถูกใช้ครั้งแรก เพราะเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรวรรดินิยม โดยมีนักวิชาการชาวจีนชื่อ หยาง ฟู
ได้เขียนนบทความ ว่า จีน เป็นคนป่วย หลังจาก หลังจากแพ้สงครามจีนญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก ในปี 1894
ต่อมาหนังสือพิมพ์ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ดำเนินกิจการโดยชาวอังกฤษ รายงานวิพากษ์วิจารณ์ การปกครองของระบบชิง และระบุว่า ในโลกนี้มีผู้ป่วย 4 คน คือ ตุรกี โมร็อคโก เปอร์ และจีน (ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ป่วยโลกตะวันออก)
เช่นเดียวกับนักข่าวชาวฮ่องกง ที่ระบุในปี 2015 อธิบายว่า คำว่า คนป่วย มักจะถูกโลกใช้เพื่ออธิบายสถานะที่อ่อนแอ อย่างกรณีที่จักรวรรดิออตโตมันที่รุ่งเรืองในอดีต กลับเสื่อมถอยลง
หรือเรียกจักรวรรดิชิงของจีน เมื่อแพ้สงครามญี่ปุ่นที่จักรวรรดิเล็กกว่า ในสมัยสงคราม ญี่ปุ่น-ชิง เช่นเดียวกัน รายงานอ้างว่า ชาวตะวันตกใช้คำว่า คนป่วยของยุโรปเพื่อกล่าวหาตุรกี และ กล่าวหาจีน ผู้ป่วยของโลกตะวันตก ต่อมาคำนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายในจีน ไม่ใช่ชาวต่างชาติ
ที่เห็นชัดเจน คือ ปี 1902 เหลียง ชี เฉา นักคิดชาวจีนใช้คำนี้เพื่ออธิบายสภาพร่างกายชาวจีนที่ติดฝิ่น และยังสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในอดีต
แต่ก็พบว่ามีความพยายามลบการใช้วาทกรรมไม่ให้พาดพิงจีน ภาพยนตร์ในอดีตยังแทรกบทสนทนา ว่า "จีน" ไม่ใช่คนป่วย
มณีนาถ อ่อนพรรณา
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
แปลและเรียบเรียง
อ้างอิง China Media Group และ สำนักข่าว South China Morning Post