วันนี้ (25 มี.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.2563
โดยสาระสำคัญของ “ข้อกำหนด” ภายใต้ประกาศฉบับนี้ ได้แก่
- ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง
- ปิดสถานที่เสี่ยง (ดำเนินการไปแล้วบางส่วน)
- ปิดช่องทางเข้าประเทศ
- เสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก
- ห้ามกักตุนสินค้า -ขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล
- ห้ามเสนอข่าวบิดเบือน
แบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เตรียมเข้าบัญชาการศูนย์ COVID-19 เต็มตัว ทั้งการป้องกัน การรักษาพยาบาล และการเยียวยาฟื้นฟู โดยจะแบ่งงานศูนย์ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข ส่วนปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านการรสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ นอกจากนี้ให้ปลัดพาณิชย์ รับผิดชอบด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศและการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดรับผิดชอบ ด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
นายกรัฐมนตรียังสั่งปรับการสื่อสารวิกฤต COVID-19 แถลงข่าววันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและความเข้าใจคลาดเคลื่อน
มีข้อมูลแหล่งเดียว จากรัฐบาลเป็นประจำทุกวัน และข้อมูลที่ไม่ได้มาจากศูนย์นี้เป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้
นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า ขอสื่องดสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มที่ พร้อมชวนชาวโซเชียลมีเดียช่วยแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง และต้านการแชร์ข่าวปลอม ลั่น “เราเป็นทีมเดียวกัน”
นอกจากนี้ยังเตือนคนฉวยโอกาสจากความทุกข์ร้อน ความเป็นความตาย อย่าคิดหลุดพ้น เพราะตนจะใช้กฎหมายทุกอย่างจัดการอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ สรุปประเด็นสำคัญ 6 ประเด็นจากแถลงการณ์ดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
1. นายกฯ รวบอำนาจ ลดปัญหา “ต่างคนต่างทำ”
นายกฯ จะเข้ามาบัญชาการจัดการกับไวรัส COVID-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาล ไปจนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของ COVID-19
โดยจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้และรายงานตรงต่อประชาชน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมาสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว
และจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.นี้ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการและสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ
"เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบ ‘ต่างคนต่างทำ’"
2. แบ่งงาน 5 หน่วยหลักคุม “ข้าราชการ”
นายกฯ แบ่งภารกิจหลักให้หน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1.ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข
2.ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
3.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
4.ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศ และการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
5.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการตณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
3. ถอดรหัส “มาตรการ” คุมเข้ม
ทั้งนี้จะมีการประชุมกันทุกวัน เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน และเมื่อนายกฯ แจกจ่ายงาน ทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งผู้ที่รายงานต่อประชาชน จะต้องเป็นนายกฯ หรือผู้ที่มอบหมายเท่านั้น สำหรับข้อกำหนดต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้
- การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง
- การปิดสถานที่เสี่ยง (ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว)
- การปิดช่องทางเข้าประเทศ
- การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก
- การห้ามกักตุนสินค้า การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล
- การห้ามเสนอข่าวบิดเบือน
ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
4. นายกฯ สั่งแถลงข่าววันละ 1 ครั้ง กันคาดเคลื่อน
นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ให้ถูกต้อง ชัดเจนและครบถ้วน โดยสั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชน เพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
"ผมขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการ ตรงไปตรงมา โปร่งใสและชัดเจน จากเพียงแหล่งเดียว เป็นประจำทุกวัน และขอให้ถือว่าข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการแถลงประจำวันของคณะทำงานฉุกเฉินนี้ อาจจะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้"
5. ขอชาวโซเชียลร่วมต้านข่าวปลอม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอสื่อเพิ่มความรับผิดชอบ ให้ข้อมูลประจำวันจากสื่อสารเฉพาะกิจ แพทย์แถลง แทนการสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่
สำหรับคนใช้โซเชียลมีเดีย “เราเป็นทีมเดียวกัน” ท่านช่วยแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง ต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจง่าย ทั้งนี้ขอเตือนคนฉวยโอกาส หาโอกาสบนความทุกข์ร้อน ความเป็นความตายของผู้อื่น
“ขอเตือน อย่าคิดหลุดพ้น เพราะตนจะทำทุกย่างและใช้กฎหมายจัดการอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานี การบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมายและการเอาผิดข้าราชการ และเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่”
6. นายกฯ ปลุกใจ “โคโรนา” ทำร้ายความดีงาม-ความสามัคคีไม่ได้
นายกฯ กล่าวช่วงท้ายว่า บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่มันเป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเอง ของครอบครัวของท่าน และของคนไทยทุกคน หากพวกเราเข้าใจ เข้มงวด และจริงจัง ในเวลาไม่นานตนมั่นใจว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้
ช่วงเวลานี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวด และท้าทายความรัก ความสามัคคีของพวกเราทุกคน แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา นั่นก็คือ ความกล้าหาญ ความรัก ที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติ ความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึคงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน
ซึ่งจะนำพาให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ ด้วยความสามัคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก COVID-19 ที่น่ากลัวและอันตราย ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไวรัส COVID-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือ ความดีงามในใจ ความสามัคคี ของคนไทย จะกลับมาเปร่งประกายทั่วแผ่นดินไทยอีกครั้ง
“ผมในฐานะนายกฯ ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่า ผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ นำพาประเทศไทยพ้นวิกฤต ด้วยความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ของคนไทยทุกคน ขอให้คนเชื่อมั่น ฝ่าฟันไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สู้ไปด้วยกัน เราจะชนะไปด้วยกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19 ขั้นสูงสุด
รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้ COVID-19
สั่งคุมเข้ม! ป่วย107 คน "ผู้ต้องขัง-หมอ" กักทีมแพทย์ 25 คน