ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สังสรรค์ที่บ้าน” ทางเลือกฝ่าวิกฤตของร้านอาหารย่านอารีย์

เศรษฐกิจ
24 มี.ค. 63
16:22
710
Logo Thai PBS
“สังสรรค์ที่บ้าน” ทางเลือกฝ่าวิกฤตของร้านอาหารย่านอารีย์
ตั้งแต่ปี 2562 บรรยากาศการค้าขายซบเซาลงเรื่อยๆ ทั้งที่ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจวบกับการประกาศพบไวรัสโคโรนา ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เหมือนวิกฤตในวิกฤตที่หลายคนต้องฝ่าไป ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป แต่ถึงวันนี้ไวรัสอันตราย กำลังระบาดในไทยเช่นกัน

“บั๋ม” พรลภัส อามระดิษ เจ้าของร้านโอกลี O glee ร้านอาหารในอารีย์ ซอย 1 เขตพญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มาจนถึงช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มชัดเจน ตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ยังไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ เพียงแต่ในช่วงนั้นเริ่มไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนมีน้อยมาก ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเหลือเพียงพนักงานออฟฟิศอย่างเดียว

 

แต่เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว ลูกค้าหายไปเยอะมาก ลดลงอย่างน่าแปลกใจ แต่ละคืนมีประมาณ 10 คน เมื่อเทียบกับช่วงพีคจะประมาณ 30-40 คน อย่างวันศุกร์ที่พีคมากก็ประมาณไม่ถึง 40 คน จากที่เคยมีมากถึง 60 คนขึ้นไป

จากจำนวนผู้มารับประทานอาหารที่น้อยลง ทำให้พรลภัสต้องปรับตัว เขาบอกว่า ปีที่ผ่านมา เขาต้องทำโปรโมชั่นต่างๆ มากมาย ทั้งร่วมกับเจ้าของเครื่องดื่มยี่ห้อต่างๆ หรือทำโปรโมชั่นของร้านเองบ้าง ซึ่งต้องทำตลอดเวลา แต่เขามองว่าเป็นการกระตุ้นการขายที่ฉาบฉวย แต่เพื่อความอยู่รอด ก็ต้องยอม

พอเกิดการระบาดของไวรัสโควิด ปัญหาคือ คนไม่อยากเจอกัน มันไม่เหมาะ เราจึงต้องปรับตัวมากขึ้นไปอีก ด้วยการส่งเครื่องดื่มไปที่บ้าน ให้คนไปสังสรรค์ที่บ้าน เน้นเดลิเวอรี่มากขึ้น เครื่องดื่มอย่างเบียร์สดกลับบ้านยังไม่มีใครทำ แต่ยังไม่มีอะไรรองรับว่าถูกกฎหมายหรือเปล่า แต่เรามองว่าเขาเอาไปดื่ม ไม่ได้เอาไปขายต่อ ซึ่งตอนนี้ยังวัดอะไรไม่ได้มากว่าจะช่วยได้แค่ไหน เหมือนการทดลองมากกว่า

แต่ถ้าคิดจริงๆ เราอยากให้คนมากินในร้านมากกว่า เพราะคนได้พบกัน ได้คุยกัน ทางเลือกนี้ เราไม่ได้เลือกแต่แรก แต่คิดว่าเป็นทางออกแก้ปัญหากับสถานการณ์ตอนนี้ไปก่อน

 

เมื่อถามว่า คิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ จะทำให้ตลาดนี้โตขึ้นได้หรือไม่ พรลภัสบอกว่า สินค้า (เบียร์คราฟ) ค่อนข้างมีราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไป ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สั่งไปค่อนข้างน้อย อยากพักผ่อน มีปัจจัยอย่างราคาค่อนข้างสูง ถ้าเราปาร์ตี้กับเพื่อนเราก็จะไม่กินของพวกนี้ ทุกวันนี้คราฟเบียร์ ราคาขึ้นทุกปี แต่มียี่ห้ออื่นส่งถึงบ้านมีมาระยะหนึ่งแล้ว ในระยะยาวกินที่ร้านดีกว่า แต่สถานการณ์แบบนี้ก็กินที่บ้านดีกว่า และผมก็ไม่อยากให้เกิดว่า มีคนติดเชื้อจากร้านเราหรือที่ร้านเรา เพราะภาพจำแบบนี้แก้ยากกว่า

ซึ่งร้านค้าแถวนี้ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ลูกค้าเน้นการซื้ออาหาร และเครื่องดื่ม กลับบ้านมากกว่า บางร้านจัดเซ็ทให้ลูกค้าเลือก บางร้านปิดหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าสั่งทางออนไลน์อย่างเดียว

แทบจะไม่มีร้านไหนที่บอกว่า ร้านตัวเองปลอดภัย เข้ามานะ ไม่มีเลย ทุกคนก็กลัวกันทั้งนั้น

พรลภัสกล่าวต่อว่า ที่ร้านต้องทำความสะอาดเหมือนกับที่อื่น ก่อนถูกสั่งให้ขายเฉพาะกลับบ้าน ต้องฉีดแอลกอฮอล์ช่วงก่อนเปิดร้านและหลังปิดร้าน ให้ลูกค้าล้างมือ ก่อนเข้ามาในร้านด้วย

 

เมื่อถามถึงมาตรการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ พรลภัสบอกว่า อยากให้รัฐบาลสั่งหยุดจริงๆ เพื่อทำให้โรคหมดไป เชื่อว่าร้านอาหารทุกแห่งให้ความร่วมมือ เพราะถ้าอึนๆ อยู่แบบนี้ ผมว่ามันจะยิ่งยากลำบากมากขึ้น

ผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว ที่ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา COVID-19 และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ขณะที่ทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน เป็นอย่างดี เพื่อให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นไป โดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

 

ขอบคุณภาพปก : FatdogFatdog.Blogspot.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง