วันนี้ (23 มี.ค.2563) นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมมาตรการเร่งด่วน จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า มาตรการเยียวยากรณีผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค COVID-19 ไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ รวมถึงสามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือโรงพยาบาลของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน แต่ต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี ด้านการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนั้น หากลาออกจะได้รับเงินทดแทนทั้งกรณีการขาดรายได้ กรณีเลิกจ้าง และกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งครอบคลุมทั้งประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน และนายจ้างที่ถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ
เสนอเยียวยา 50% จากฐานเงินเดือน
ส่วนกรณีที่สถานประกอบการต่างๆ ต้องหยุดชั่วคราวตามมาตรการของรัฐ เบื้องต้น บอร์ดประกันสังคม เสนอมาตรการเยียวยาให้ผู้ประกันตน ได้รับเงินเยียวยา 50% โดยคิดจากฐานเงินเงินเดือน 15,000 บาท หรือได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 7,500 บาท แต่กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกันตนได้รับเงิน 100% เพื่อให้เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งมาตรการนี้จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมช่วงบ่ายนี้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปี 2545 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน การย้ายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือ อีกทั้งมาตรการเพื่อเยียวยาลูกจ้าง กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย มาตรการชะลอการเลิกจ้าง การจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part - time การจ้างงานเร่งด่วน