วันนี้ (8 มี.ค.2563) รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVD-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกระทบกับการบริจาคโลหิตภายในศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต จากเป้าหมายที่ต้องได้รับโลหิตวันละ 2,000-2,500 ยูนิต ได้รับโลหิตลดลงเฉลี่ยวันละ 1,400 ยูนิต ต่อเนื่อง 3 วัน อีกทั้งหลายหน่วยงานที่ได้นัดหมายล่วงหน้าในการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต แจ้งยกเลิกจำนวนมาก เนื่องจากมีการเฝ้าระวังการเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้จำนวนการบริจาคโลหิตลดลงต่อเนื่อง
ขณะนี้มีเลือดไม่ถึงวันละ 1,000 ยูนิต อยู่ในภาวะโลหิตสำรองไม่เพียงพอจ่ายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว หากสถานการณ์แบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในการรักษาอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงออกมาตรการสร้างความมั่นใจให้เป็นสถานที่ปลอดภัยจาก COVID-19 ดังนี้ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ประสงค์บริจาคโลหิต และบุคคลภายนอกที่เข้ามาภายในอาคาร หากตรวจอุณหภูมิครั้งแรก เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้นั่งพักรอบริเวณสถานที่จัดไว้ประมาณ 10 นาที และจะวัดอุณหภูมิครั้งที่ 2 หากผ่านเกณฑ์ ให้เข้าสู่ภายในอาคาร หากไม่ผ่านเกณฑ์ จะมีเอกสารคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หากไม่ผ่านเกณฑ์ จะให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และยืนยันว่าสามารถทำงานได้ตามปกติ หรือให้ลาหยุด
ภาพ:สภากาชาดไทย
ทำความสะอาดอุปกรณ์-ห้องป้องกันไวรัส
นอกจากนี้ได้ติดตั้งแอลกอฮอล์เจลทั่วอาคาร เช่น บริเวณทางเข้า-ออกอาคาร และตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริจาคโลหิตทำความสะอาดมือ และจุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์ ด้านการรับบริจาคโลหิตทั้งในสถานที่และหน่วยเคลื่อนที่ และวัสดุอุปกรณ์บนรถบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 70% ซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ เช่น เตียงรับบริจาคโลหิต เครื่องชั่งเขย่าถุงบรรจุโลหิต เครื่องรับบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน เครื่องวัดความดัน ลูกบีบบริจาคโลหิต เป็นต้น ทำความสะอาดพื้นห้องรับบริจาคโลหิต ห้องปฏิบัติการ ห้องผลิต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 0.05% Sodium hypochlorite ในส่วนพื้นห้องสำนักงานให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไปตามมาตรฐาน
ทำความสะอาดบริเวณปฏิบัติงาน โต๊ะเก้าอี้ ปุมกดลิฟต์ และจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 70% alcohol เช่น โต๊ะลงทะเบียน กรอกประวัติคัดกรองเบื้องต้น ห้องรับบริจาคโลหิต พื้นที่สำหรับผู้บริจาคหลังบริจาคโลหิต ราวบันได ราวบันไดเลื่อน เครื่องบันทึกเวลาเข้า-ออก บัตรจอดรถ เป็นต้น
นอกจากนี้ เปลี่ยนผ้าคลุมตัวผู้บริจาคโลหิตผืนใหม่ทุกวัน ผู้บริจาคโลหิตชาย ไม่ต้องใช้ผ้าคลุม ส่วนผู้บริจาคหญิงที่สวมกระโปรงหรือต้องการใช้ผ้า ให้พับครึ่งผ้าและคลุมช่วงตัว ไม่คลุมเท้า รวมทั้ง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการรับบริจาคโลหิต ห้องปฏิบัติการทดสอบพื้นที่ผลิต และพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับพนักงานทำความสะอาด ให้สวมใส่ถุงมือตามความเหมาะสมของงาน
มาตรการดังกล่าว ครอบคลุมทั้งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมาสถานีกาชาด 11 แห่ง และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต รวมทั้ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ รวม 13 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา ภูเก็ต และ งานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จ.ประจวบศีรีขันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามหา 80 แรงงานกลับจากเกาหลีใต้ "หนีด่าน" กักโรค COVID-19
กักตัว 59 คนไทยชุดแรกกลับจากเกาหลีใต้ เฝ้าอาการ COVID-19