วันนี้ (6 มี.ค.2563) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจ พร้อมด้วย พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต.สุรชัย เจ็ดพี่น้องร่วมใจ ผู้บังคับการกองสวัสดิการ ตร. และ พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 ในฐานะรองโฆษก ตม. ร่วมกันแถลงมาตรการรับมือวิกฤตการแพร่กระจายโรค COVID-19 ระบุว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีแผนรับมือกับปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งเป็นคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาร่วมกันออกแผนและลงมือแก้ปัญหา
นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า โรงพยาบาลตำรวจมีหน้าที่หลักในการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกจากคนปกติ เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายโรคไปมากกว่านี้ โดยจะมีการคัดกรองทุกตึกที่คนไข้เดินทางเข้า ตั้งแต่การวัดไข้และซักประวัติว่าเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากพบว่ามีไข้และเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะมีการแจกหน้ากากอนามัย และแยกตัวเข้าสู่ห้องแยกโรคเพื่อเก็บเสมหะไปตรวจว่ามีเชื้อหรือไม่ หากพบเชื้อ COVID-19 จะแยกตัวไปยังห้องความดันลบ เพื่อทำการรักษา
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลตำรวจ มีกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจโรค COVID-19 จำนวน 31 คน พบว่ามีเพียง 1 ที่มีผลเป็นบวกซึ่งเป็นชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น แต่เบื้องต้นได้รับการรักษาจนหาย และสามารถกลับบ้านได้แล้ว ซึ่งตอนนี้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็สามารถควบคุมกลุ่มคนเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนไทยที่ไปเป็นแรงงานเถื่อนกลับมา แต่ทั้งนี้การดำเนินการตรวจสอบอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันยังไม่มีใครติดโรค COVID-19 ถือว่าการคัดกรองของโรงพยาบาลตำรวจ ยังสามารถควบคุมได้อยู่
มีการวางแผนในอนาคตหากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 จะต้องมีการแยกตึก ซึ่งไม่เชื่อมต่อกับอาคารใดมีการควบคุมการเข้าออก รวมถึงระบบป้องกันการกระจายของโรค COVID-19
คัดกรองเข้มมาจาก 4 ประเทศเข้าไทย
ขณะที่ รองโฆษก ตม. กล่าวว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีภารกิจหลักในการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลี อิตาลี และอิหร่าน ซึ่งมีทั้งมาตรการป้องกันตั้งแต่การตรวจสอบที่นั่งบนเครื่องบิน จัดกลุ่มที่นั่งสำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
คนที่เดินทางเข้าประเทศมามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ Overstay ต้องเข้าสู่กระบวนการซักประวัติ และหากพบว่าไม่มีอาการป่วยไข้ก็จะปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา แต่จะติดตามต่ออีกเป็นเวลา 14 วัน กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มอื่น ๆ ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปและคนไทย โดยคุมเข้มชาวต่างชาติให้กรอกข้อมูลที่พักโดยละเอียด พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
หากคนที่เดินทางเข้ามาแล้วมีไข้หรือมีอาการต้องสงสัยภายหลังเดินทางเข้ามาแล้วก็จะมีการติดตามไปตรวจสอบ ทั้งบุคคลใกล้ชิด และคนที่นั่งใกล้กับผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ 2 แถวหน้า-หลัง เพื่อไปตามตัวมาตรวจสอบ รวมถึงตามด่านตรวจก็จะมีมาตรการรองรับทั้งเตรียมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และถุงมือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีการเช็ดอุปกรณ์เครื่องมือทุก 10 นาที และฝากไปถึงประชาชน ผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรม ให้ช่วยเฝ้าระวังสอดส่องด้วย
แผนรับมือรับผู้ป่วย COVID-19
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะประสานขอความร่วมมือให้ทางการเกาหลีใต้กักตัวผู้ที่ Overstay เป็นเวลา 14 วัน ก่อนเดินทางกลับได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของประเทศต้นทาง แต่ทั้งนี้ก็ได้ขอความร่วมมือคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศให้กักตัวเองก่อนเดินทางเป็นเวลา 14 วัน และจะให้สถานฑูตออกหนังสือรับรองก่อนเดินทางกลับ นอกจากนี้ ยังให้สายการบินช่วยคัดกรองผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องบินด้วย เพราะหากพบภายหลังว่าผู้ที่เดินมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วย สายการบินจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา
ด้าน ผู้บังคับการกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กองสวัสดิการมีอาคาร 3 ชั้น 80 ห้อง เตรียมการไว้รองรับกรณีมีกลุ่มเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสามารถปรับเปลี่ยนไปรองรับประชาชนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ขณะที่ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเตรียมมาตรการและสถานที่รองรับเพิ่มเติม คือ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนในแต่ละจังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วย COVID-19 หากมีความจำเป็น
ฝากไปถึงผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ขอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เพราะเชื่อว่าคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็รู้ตัวอยู่แล้ว
แม้ว่าประเทศไทย จะยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในให้บุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงกักตัวเอง แต่เชื่อว่ามาตรการทางสังคมอาจจะทำให้บุคคลกลุ่มนี้มีความรับผิดชอบมากขึ้น
ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานมาโดยตลอด ทั้งการตรวจคัดกรองคนเข้า และจับกุมผู้ที่ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา โดยขณะนี้มีการจับกุมไปแล้วกว่า 50 ราย ส่วนใหญ่พบว่าจำหน่ายเกินราคา ซึ่งยังมีการสืบสวนและจับกุมอยู่เรื่อย ๆ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน ซึ่งในการจับกุมยังรวมไปถึงผู้ที่กักตุนสินค้าและปล่อยขายในเฟซบุ๊ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าฯ สุรินทร์ แนะคนไทยกลับจากประเทศเสี่ยงประสานกักตัว 14 วัน
Daily Report : จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
จีน ระบุผู้ป่วย COVID-19 อาจไม่ไข้สูง-หลุดรอดเป็น "นักแพร่เชื้อ"