การสำรวจเส้นทางผันน้ำของโครงการผันน้ำยวมเข้าสู่เขื่อนภูมิพลเริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนน้ำยวมประมาณ 15 กิโลเมตร
ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่าเขื่อนนี้มีความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. ระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 142 ม.รทก. ทำหน้าที่ยกระดับน้ำให้สูงขึ้นก่อนผันน้ำเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำ
บ้านท่าเรือมีชาวบ้าน 5 หลังคาเรือน หนึ่งในนั้นคือบ้านของนายเมี๊ยะอ่อง ไม่มีนามสกุล อายุ 67 ปี บ้านของเขาอยู่ห่างแม่น้ำยวมราว 100 เมตร
ทีมงานสอบถามความคิดเห็นของนายเมี๊ยะอ่องที่มีต่อโครงการทำให้ทราบว่า เขารู้สึกกังวลต่อระดับน้ำที่จะสูงขึ้นในอนาคต และยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเป็นคนไร้สัญชาติ
ผมพยายามมองในแง่ดี ก็เห็นว่าโครงการฯนี้อาจจะดี ถ้าบ้านผมน้ำท่วมคนเดียวมันไม่เป็นไร แต่ถ้าน้ำท่วมที่อื่นด้วยกรมชลประทานจะรับผิดชอบผลกระทบในส่วนอื่น ๆ ได้หรือไม่ ถ้าผมเสียหายคนเดียวก็พร้อมจะเสียสละ
จากบ้านท่าเรือ ทีมงานล่องเรือต่อไปยังบ้านสบเงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตลอดเส้นทาง พบว่า มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์
จากข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุว่า ระดับน้ำจะยกตัวสูงขึ้นจากระดับน้ำสูงสุด 2-3 เมตร แต่มีมาตรการปลูกป่าทดแทนเป็นจำนวน 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป
ที่บ้านสบเงา ทีมงานได้พบชาวบ้าน 2 คน คือนายประจวบ ทองฤทธิ์ อายุ 53 ปีและนายธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ อายุ 49 ปี ทั้งคู่เป็นชาวบ้านที่จะต้องสูญเสียที่ดิน หากโครงการนี้เกิดขึ้น เพราะบ้านและโกดังสินค้าการเกษตรของพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งเครื่องสูบน้ำบ้านสบเงา ซึ่งตามโครงการระบุว่าจะมีเครื่องสูบน้ำขนาด 58.59 เมกะวัตต์จำนวน 6 เครื่อง สูบน้ำผ่านอุโมงค์อัดน้ำเพื่อไปเก็บไว้ในถังพักน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เมตร เพื่อส่งน้ำลงอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร
นายประจวบ และ นายธงชัย บอกว่า ที่ดินของชาวบ้านที่บ้านสบเงาส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่ผ่านมากรมชลประทานก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
มีข้อมูลว่า น้ำจากบ้านสบเงา จะถูกส่งไปตามอุโมงค์ผันน้ำความยาว 62 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ใต้ดินผ่านอำเภออมก๋อยเข้าสู่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ในขั้นตอนการขุดเจาะอุโมงค์จะมีการนำวัสดุที่ได้จากการขุดเจาะปริมาตรกว่า 8.7 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นมากองบนดิน ซึ่งกรมชลประทานระบุว่าจะแบ่งออกเป็น 6 กอง เพื่อไม่ให้กองดินสูงเกินไป
กองวัสดุเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน พวกเขา มองว่า การนำหินที่อยู่ใต้ดินขึ้นมากองอาจทำให้ธาตุบางอย่างที่เป็นพิษปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประปาภูเขาที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่า การจัดการกองวัสดุทั้ง 6 กอง จะมีการคลุมผ้าใบเพื่อไม่ให้ถูกชะล้างไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ จะปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่ที่กองวัสุดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนประเด็นเรื่องการชดเชยความเสียหายให้กับชาวบ้านก็มีมาตรการไว้แล้ว โดยชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็จะได้รับค่าชดเชยด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่าอุโมงค์ที่เราทำ มีจุดที่เป็นทางเข้าออกของอุโมงค์ประมาณ 5 จุดที่เราจะนำสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการระเบิดหรือขุดเจาะออกมากองไว้ จากนั้นจะปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นธรรมชาติกลับคืนมาไม่ว่าจะต้องปูแผ่นใยสังเคราะห์ ปูน้ำ หรือ ดักตะกอน หลังจากนั้นอาจต้องเกลี่ยหรือบดอัด รวมถึงปลูกต้นไม้ให้ทุกอย่างกลับมามีสภาพเหมือนเดิม
ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า โครงการผันน้ำยวมเข้าสู่เขื่อนภูมิพล จะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งให้กับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้กว่า 1 ล้าน 6 แสนไร่ มีน้ำเพื่อทำการเกษตรเพิ่มขึ้น 1,496 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล 417 ล้านหน่วยต่อปี