วันนี้ ( 14 ม.ค. 2563) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.ของพรรค ร่วมกันแถลงเปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นร่างแรกของพรรคที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราาฎรพิจารณาตราเป็นกฎหมาย สาระสำคัญเพื่อปลดล็อกทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย ในกลุ่มธุรกิจสุราร่างนโยบายที่จะทลายทุนผูกขาดแอลกอฮอล์ขนานใหญ่ และเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจต่อประชาชนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ทีมยกร่างกฎหมายฉบับนี้นำทีมโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นหัวหน้าทีม รวมถึงนายซัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค และยังมี ส.ส.ของพรรคอีก รวมทั้งนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่สะท้อนความจริงจากผู้ทำเหล้า เบียร์ อุปสรรค และปัญหา โดยเฉพาะทางความคิดที่เข้าใจกันไปว่าต้องเป็นบริษัทใหญ่เท่านั้นถึงจะสามารถผลิตสุราได้ พร้อมย้ำว่า จำเป็นต้องมีการปลดล็อกเพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้ามาทำได้ด้วย
ส่วนนายพิธา ได้กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร และการสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกล่าวถึงเหล้า “อาวาโมริ” ที่เคยอภิปรายในสภาไว้ว่า เหล้าอาวาโมริเกิดขึ้นเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่ชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาโดยนำข้าวจากประเทศไทยไปผลิตเป็นเหล้า โดยข้าวที่ใช้คือข้าวอินดิก้า คือ ข้าวยาวที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก
40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวอินดิก้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด 200,000 ตันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 - 20 บาทขึ้นอยู่กับช่วงเวลา จากนั้นประเทศญี่ปุ่นได้ส่งออกเหล้าอาวาโมริกลับมาขายให้กับประเทศไทยโดยคิดราคาเป็นลิตร เฉลี่ยลิตรละ 2,500 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มถึง 170 เท่า นี่คือผลผลิตที่มาจากวัตถุดิบไทยที่คนไทยมองข้าม แต่คนต่างชาติเห็นมูลค่าของมันมานานกว่า 600 ปี
พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นน้ำเมา แต่มันคือเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น มันคือเรื่องประวัติศาสตร์ มันคือสูตรและความลับทางการค้า มันคือคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ และแน่นอนมันคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำในประเทศไทยได้ และนี่คือเรื่องของเครื่องหมายทางการค้าและภาษีที่ประเทศไทยจะได้รับ
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีสาระสำคัญ 3 ประการ ประกอบไปด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ห้ามกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาผลิตสุรา ห้ามจำกัดกำลังการผลิต กำลังการผลิตของเครื่องจักร และจำนวนคนงาน 2.การจัดทำโครงสร้างภาษีขั้นบันไดตามขนาดกำลังการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถทำธุรกิจแข่งขันภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่และต่างประเทศได้ 3.ปลดล็อกการปรุงแต่งสุรา จากการแต่งกลิ่นแต่งสี และหมักสมุนไพรต่างๆ ได้ นี่คือโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตรในประเทศไทย
ด้านนายธนาธร กล่าวว่าในสิ่งที่นำเสนอวันนี้ เป็นเพียงด้านหนึ่งที่สะท้อนปัญหาของทุนผูกขาดในประเทศไทย ซึ่งต้องการให้ทุกคนเห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เอื้อกับกลุ่มทุนผูกขาด และบทบาทของกลุ่มทุนใหญ่