เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า หนึ่งในสถานที่ยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปดู "กระทิง" ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเฉพาะจุดสกัดเขาสูง-เขาแผงม้า ที่ถือเป็นจุดไฮไลท์ส่องสัตว์หรือดูฝูงกระทิงที่ออกมาหากินบริเวณทุ่งหญ้า
แต่เมื่อมีการเผยแพร่คลิปรถยนต์ 2 คันขับเข้าไปที่จุดหวงห้าม บริเวณจุดสกัดเขาสูง-เขาแผงม้า เพื่อพานักท่องเที่ยวเข้าไปดูกระทิงแบบใกล้ชิด เหมือนเป็น "ทัวร์วีไอพี" ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า การท่องเที่ยวดูกระทิงที่เขาแผงม้า จะต้องไม่ข้ามรัวเข้าไปข้างใน และต้องปฏิบัติตามระเบียบ แต่เดิมจุดสกัดเขาสูง-เขาแผงม้า เป็นจุดชมวิวที่ให้นักท่องเที่ยวใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูกระทิง บางครั้งอาจมีกระทิงบางตัวที่อายุเยอะ คุ้นชินกับคน เดินลงมาใกล้แนวรั้ว ทำให้มองเห็นได้ใกล้ชิด ซึ่งต่างกับกรณีที่เป็นข่าว
กรณีที่เป็นข่าวเป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ เป็นอีกกรณีที่เราไม่ควรทำ เพราะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายหากเกินระยะปลอดภัยของกระทิง แม้ว่าจะไม่ใช่สัตว์ดุร้าย แต่หากทำให้กระทิงตกใจหรือแตกตื่น ก็จะวิ่งไม่มีทิศทาง จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูง
สำรวจเขาแผงม้า พบกระทิงเพิ่มขึ้นนับร้อยตัว
ดร.ศุภกิจ เล่าว่า ในอดีตบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ยังไม่มีกระทิงเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ กระทั่งปี 2538 มีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่กว่า 5,000 ไร่และมีการสำรวจพบกระทิงราว 4-10 ตัว ซึ่งคาดว่าเป็นกระทิงจากเขาใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์ตรงพื้นที่ชายขอบ จนถึงแปลงปลูกป่าที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนเดิม จากนั้นมีการสำรวจอีกครั้งในปี 2541 ใกล้พื้นที่เขาแผงม้า พบกระทิงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 18-20 ตัว และล่าสุดในปี 2561 สำรวจพบว่ามีกระทิงเพิ่มขึ้นราว 250-270 ตัว
ตัวเลขล่าสุดจากงานวิจัยของนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจพบกระทิงราว 250-270 ตัว ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้เป็นกระทิงที่เพิ่มจำนวนเองทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเป็นกระทิงที่ขยับพื้นที่หากินมาจากเขาใหญ่
การเพิ่มขึ้นของจำนวนกระทิง ทำให้พบปัญหากระทิงออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีการป้องกันโดยใช้แนวกั้นหรือรั้วไฟฟ้า และกำลังเจ้าหน้าที่ในการผลักดันและเฝ้าระวัง แต่การใช้รั้วไฟฟ้าอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด จึงทำให้กระทิงบางส่วนออกมาอยู่นอกแนวรั้ว และบางส่วนอาศัยอยู่นอกพื้นที่ป่าอย่างถาวร ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหรือข้าวที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายจะเกิดขึ้นเป็นจุดๆ ไม่รุนแรงกินวงกว้างเหมือนกับช้าง แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐก็มีมาตรการแก้ไขปัญหาและเยียวยาดูแล
ลดปมขัดแย้งกระทิง-คน
ดร.ศุภกิจ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหากระทิงตาย ส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ชาวบ้านยิงกระทิงที่ออกมาหากินในไร่ข้าวโพดตายไปหลายตัว จึงนำไปสู่มาตรการพากระทิงกลับบ้าน เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการย้ายกระทิงไปที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง หรือพากลับไปที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า
แต่ปัจจุบันมีแผนจัดการที่ทำในระยะยาวคือ การฟื้นฟู ทำงานร่วมกับเครือข่าย ส่วนแผนเร่งด่วนมี 2 กิจกรรมคือ การปรับปรุงพื้นที่แหล่งอาหารบริเวณชายขอบที่เป็นแนวเชื่อมต่อระหว่างเขาใหญ่กับเขาแผงม้า เพื่อไม่ให้กระทิงออกนอกพื้นที่ รวมถึงซ่อมแซมแนวรั้วไฟฟ้า ส่วนการป้องกันกระทิงที่ออกนอกพื้นที่แล้ว จะมีชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาความขัดแย้งสองฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบรถยนต์เข้าจุดหวงห้ามเขาสูง-เขาแผงม้า จ.นครราชสีมา
ไม่ใช่วีไอพี! อุทยานฯ แจงวุ่นรถหลวงพ่อขับตรวจกระทิงเขาแผงม้า
สั่งสอบ "ทัวร์วีไอพี" ลุยทุ่งดูกระทิงเขาแผงม้า
เข้าจุดหวงห้ามผิดกฎหมาย สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า?
แนะจัดระเบียบทัวร์ดูช้างป่าเขาใหญ่ หวั่นกระทบพฤติกรรมช้าง