วันนี้ (23 ก.ย.2562) หลังจากตำรวจได้แถลงผลการตรวจเลือดของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือลัลลาเบล จากแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าในเลือดของลัลลาเบล มีแอลกอฮอล์สูงกว่า 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และคาดว่าเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากพิษสุรา และยังไม่พบสารเสพติดชนิดอื่นในร่างกายเพิ่ม
ล่าสุด เพจ Mahidol Channel ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า "Alcohol intoxication" คือ ชื่อทางการแพทย์ที่ใช้เรียกการเสียชีวิตจากการดื่มสุรา ถือเป็นพิษภัยร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เหล้าทุกหยดที่ดื่ม จะส่งผลกระทบอะไรต่อสุขภาพ โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกาย (มก.%) จะส่งผลกระทบตามมา ดังนี้
- 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีอาการสนุกสนาน ร่าเริงกว่าปกติ การยับยั้งชั่งใจลดลง
- 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ การมองเห็นลดลง ความสามารถในการควบคุมร่างกายช้าลง
- 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ พูดไม่รู้เรื่อง การตอบสนองและตัดสินใจช้าลง
- 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สูญเสียความจำบางส่วน เศร้า อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
- 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มองไม่ชัด มึนงง ควบคุมสติไม่ได้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ
- 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตาพร่า ขาดสติโดยสมบูรณ์ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิต
โดยก่อนหน้านี้นายภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หรือหมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ผ่านเพจ เปรียบเทียบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับดื่มเหล้า 4 แก้ว แก้วละ 1 ฝา ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับดื่มเหล้า 6 แก้ว แก้วละ 1 ฝา หากระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หมายถึงดื่มเหล้า 12 แก้ว แก้วละ 2 ฝา ส่วนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คือ ดื่มเหล้า 24 แก้ว แก้วละ 2 ฝา
ขณะที่ ปริมาณแอลกอฮอล์สำหรับผู้ขับขี่ตามกฎหมายต้องไม่เกิน 50 มก.% หรือหมายถึงการดื่มเหล้า 3 ฝา (ฝาละ 10 มล.) เบียร์ 1 กระป๋อง (330 มล.) ไวน์ ครึ่งแก้ว (150 มล.) โดยปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก
เหล้าทุกอึก ทำลายอะไรในร่างกายบ้าง
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายอีกด้วย
หัวใจ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ดื่มต่อเนื่องนานหลายปี เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
สมอง
เซลล์สมองถูกทำลาย ความจำเสื่อม การทำงานของระบบประสาททั้งระบบลดลงเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก
ตับ
ไขมันพอกตับทำให้ตับโต ตับอ้วน บางคนตับอักเสบหากรุนแรงทำให้ตับแข็งได้
ช่องท้อง (กระเพาะอาหาร)
ปวดท้อง กระเพาะอาหารระคายเคือง หากอักเสบรุนแรงจะอาเจียนเป็นเลือด คนที่ดื่มปริมาณมากเป็นเวลานาน เสียงเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ดื่ม 3 เท่า
ไต
ทำงานหนัก ส่งผลให้ไตวายได้
กระเพาะปัสสาวะ
กระเพาปัสสาวะอักเสบเสี่ยงเป็นมะเร็ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลเลือด "ลัลลาเบล" ชี้พิษแอลกอฮอล์ 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
หมอแล็บแพนด้าเตือน "ดื่มเหล้า" เร็ว-มาก เสี่ยงเสียชีวิต