ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันที่ไม่ง่ายของ "ทรายกับลูเต้อร์" เพื่อนซี้ 4 ขา

สังคม
9 ส.ค. 62
11:37
4,684
Logo Thai PBS
วันที่ไม่ง่ายของ "ทรายกับลูเต้อร์" เพื่อนซี้ 4 ขา
"น้องทราย" ผู้พิการทางสายตา เปิดใจถึงการใช้ชีวิตที่มีสุนัขนำทางช่วยเหลือในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตไม่ง่ายเมื่อสภาพแวดล้อมและความเข้าใจในสังคมไทยที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตมากนัก

น.ส.คีริน  เตชะวงศ์ธรรม หรือ น้องทราย ผู้พิการทางสายตา พร้อม ลูเต้อร์ สุนัขนำทางพันธุ์ลาบราดอร์ สีดำ อายุ 3 ปี เปิดบ้านให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ถึงการใช้ชีวิตพร้อมกับสุนัขนำทางในประเทศไทย ที่เธอเล่าว่า

สำหรับผู้พิการยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงต้องการให้แก้ไขปรับปรุง โดยหวังว่าผู้พิการจะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับบุคคลทั่วไปโดยไม่ได้คาดหวังสิทธิพิเศษแต่อย่างใด

การใช้สุนัขนำทางในไทยและต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไร

ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะที่ต่างประเทศ อย่างที่สหรัฐอเมริกา คนที่นั่นจะรู้จักสุนัขนำทาง เมื่อเห็น ก็จะรู้ว่าไม่ควรเข้ามารบกวน ซึ่งก็อาจมีบ้างนิดหน่อย แต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก แต่พ่อแม่ก็จะรู้ก็จะบอกลูกว่าเป็นสุนัขนำทางนะ กำลังทำหน้าที่อยู่เข้าไปกวนไม่ได้ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา

 

 

ขณะที่การใช้สุนัขนำทางที่ไทยปัญหาจะมีคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างกันที่ระดับมากกว่า เพราะเมืองนอกจะมีบ้างแต่น้อย แต่ของไทยจะมากกว่า ของไทยจะเป็นการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ หรือการที่ไม่รู้ว่าจะประพฤติตัวกับสุนัขนำทางอย่างไร

ส่วนใหญ่จะเข้ามาเล่นหรือส่งเสียงเรียกร้องความสนใจสุนัข ซึ่งเราจะเป็นคนที่คุมไม่ให้สุนัขวอกแวก ขณะที่กรณีมีเสียงรบกวน หรือผู้คนจำนวนมาก ลูเต้อร์จะไม่ตื่นเสียงหรือตื่นคนเยอะ เพราะตอนฝึกผ่านขั้นตอนตรงนี้มาหมดแล้ว พื้นผิวถนนที่เป็นปัญหาก็ทำได้ค่อนข้างดีเพราะฝึกมาแล้วเช่นกัน เช่น กรณีเจอขั้นบันได หรือมีหลุมเขาก็จะหยุด ก็จะไม่พาเราตกบันไดหรือทางแคบถ้าเขาประเมินว่า ผ่าน 2 คนไม่ได้เขาก็จะหยุด จากนั้นเราก็จะสำรวจโดยใช้เท้าหรือมือสำรวจว่าทำไมเขาถึงหยุด

แต่ในกรณีที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยก็จะใช้ไม้เท้าด้วย เพราะบางครั้งเราไม่รู้ว่ามีสิ่งใดรอบดัวเราบ้าง เพราะการใช้ไม้เท้าจะทำให้เรารู้ว่ามีอะไรอยู่รอบตัวเรา บางครั้งก็จะใช้ควบคู่กันโดยก่อนหน้านี้ก็จะใช้ควบคู่กัน

 

การใช้ลูเต้อร์ในการนำทางดีขึ้นอย่างไรบ้าง

การใช้สุนัขนำทางหรือการใช้ไม้เท้าจะไม่บอกว่าอะไรดีกว่ากัน เพราะบางคนก็ชอบที่จะใช้ไม้เท้ามากกว่า บางคนชอบใช้สุนัขนำทางมากกว่า ความแตกต่างคือการพบหรือหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เพราะหากใช้ไม้เท้า ไม้เท้าจะต้องไปกระทบกับสิ่งกีดขวาง เช่นมีถังขยะ หรือ ต้นไม้ เราก็จะอ้อมไป แต่ขณะที่สุนัขจะเห็นและพาหลบเลี่ยงเลย เพราะเขาจะช่วยเราประเมินเลยว่า เมื่อมีสิ่งกีดขวางเขาจะพาเราหลบเลี่ยงอย่างไร

เคยพาลูเต้อร์ไปไหนมาบ้างแล้ว

ในต่างประเทศเคยเดินทางที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เคยพาลูเต้อร์ไปอยู่ด้วยประมาณ 2 เดือน ในช่วงฝึกงาน โดยเดินทางวันละประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน ขึ้นรถไฟ เดิน หรือเคยพาไปดูหนังที่สหรัฐฯ ก็สามารถเข้าโรงหนังได้โดยลูเต้อร์จะนั่งใต้เก้าอี้ซึ่งเสียงค่อนข้างดังลูเต้อร์ก็จะไม่แตกตื่น หรือตอนที่ไปแลกเปลี่ยนที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประมาณ 4 เดือนก็เคยพาลูเต้อร์ไปดูละครเวทีด้วยเหมือนกัน

ที่เมืองไทยโดยหลักอยู่ที่กรุงเทพฯแต่ยังไม่ได้ไปหลายสถานที่มากนัก เพราะยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง และสถานที่ราชการ หลังจากไปพบผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (อัศวิน ขวัญเมือง) ท่านบอกว่าสามารถพาลูเต้อร์ไปได้ทุกที่ แต่ก็ยังไม่ได้ลองไปที่อื่น ๆ

ต่างจังหวัดเคยพาไปเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบ้านคุณยาย จากนั้นก็ไปที่ จ.พิษณุโลก แต่ก็ต้องหาโรงแรมที่อนุญาตให้นำสัตว์เข้าไปพักได้ ซึ่งก็พอหาได้ซึ่งตามกฎหมายสุนัขนำทางสามารถเข้าได้ทุกที่ แม้แต่โรงแรมที่ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าลูเต้อร์ก็สามารถเข้าได้ รวมถึงแม้แต่โรงแรมที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ก็จะเสียค่าบริการเพิ่มเติม ซึ่งตามกฎหมายก็จะไม่มีการคิดค่าบริการกับสุนัขนำทางเพราะลูเต้อร์ ที่เหมือนกับรถเข็น ไม้เท้า ที่ช่วยผู้พิการซึ่งไม่ควรเก็บค่าบริการเพิ่ม

 

 

ในไทยมีสถานที่ไหนที่อยากไปบ้าง

ตอนนี้เราได้เสียงตอบรับจากคนทั่วไปเยอะมาก จากองค์กรต่าง ๆ เช่น ภาคเอกชนเช่น ห้างเดอะมอลล์ ห้างเซ็นทรัล แต่ก็ยังไม่เยอะนอกจากนั้นยังไม่มี และยังมีความกังวลในร้านทั่วไปซึ่งเป็นร้านขนาดเล็ก เราไม่สามารถที่จะติดต่อเข้าไปทุกที่ได้ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าทางร้านจะยินดีให้เราเข้าไปหรือไม่ หรือเขาจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งกรณีร้านทั่วไปก็ต้องเข้าไปคุย หรือหากไปห้างหรือสถานที่ที่ค่อนข้างใหญ่ก็จะติดต่อไปก่อนล่วงหน้าว่า สามารถพาสุนัขนำทางเข้าได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไป และถ้าเป็นที่ที่เรายังไม่เคยไป จะต้องโทรไปสอบถามก่อนทุกครั้ง ซึ่งก็ค่อนข้างสร้างความยุ่งยากสำหรับเราพอสมควร เพราะหากเป็นเมืองนอกเราไม่ต้องติดต่อสามารถไปได้เลย

การเดินทางในประเทศไทยเคยเกิดเหตุอะไรหรือไม่

ตอนนี้ยังไม่เคยเกิดเพราะส่วนใหญ่เดินทางไปกับพ่อ-แม่ แต่แม้ว่าการมีสุนัขนำทางจะช่วยได้เยอะในการหลีกเลี่ยงจุดที่มีปัญหาแต่ว่ามีหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่ามีสุนัขนำทางแล้วไม่ต้องแก้ไข เราก็ยังอยากให้แก้ไข

ระบบขนส่งสาธารณะ ในกรุงเทพฯเอื้อต่อการเดินทางมากแค่ไหน

ตอนนี้ยังไม่ค่อยเดินทางมากนักกับระบบขนส่งมวลชนไทยเพราะยังไม่คุ้นเคยกับระบบ เพราะโตมาโดยที่พ่อแม่ขับรถให้ตั้งแต่ในสมัยมัธยม แต่ในต่างประเทศจะค่อนข้างดี เช่นในอังกฤษจะมีรถเมล์เยอะเป็นระบบ โดยสามารถพาลูเต้อร์ไปได้หมด ไปได้ทุกที่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เพราะเขาถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้พิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ดังนั้นจึงสนับสนุนเพราะหากมีการห้ามก็เท่ากับว่าผู้พิการต้องพึ่งพาคนอื่น ในการเดินทางไปที่ต่าง ๆ

ได้ “ลูเต้อร์” มาอย่างไร


สมัครผ่านทางออนไลน์ไปยัง Guiding Eyes for the Blind องค์กรฝึกสุนัขนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ค โดยทางศูนย์จะเก็บข้อมูลต่างๆ ว่าทำไมจึงอยากมีสุนัขนำทาง และคิดว่าจะดูแลสุนัขได้อย่างไร เมื่อผ่านการประเมินทางศูนย์ฯจะส่งเจ้าหน้าที่มาสัมภาษณ์ที่ถึงที่พัก เพื่อมาดูสถานที่ว่าเป็นอยู่อย่างไร และให้เราเดินทางให้ดูว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้หรือไม่ หรือแค่ไหน เพราะการที่จะขอรับสุนัขนำทางเราต้องสามารถเดินทางได้ด้วยต้วเองได้อยู่แล้ว ใช้ไม้เท้าได้ ซึ่งหากเดินทางไม่เป็นแต่อยากได้สุนัขนำทางก็จะไม่ได้

 

การติดต่อเข้าไปเพื่อขอรับสุนัขนำทางจะไม่ได้ทุกคน การประเมินค่อนข้างเข้มงวด หากรู้สึกว่าเรายังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ หรือหากทางศูนย์ฯ คิดว่าเรายังดูแลสุนัขได้ไม่ดีพอก็มีสิทธิที่จะปฎิเสธ และการฝึกสุนัขแต่ละตัวใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน การรอคิวเพื่อที่จะได้สุนัขมาก็ค่อนข้างนาน เพราะการฝึกแต่ละชุดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยฝึกได้ประมาณ 12 คนให้สามารถออกคำสั่งดูแลสุนัขได้

“ลูเต้อร์” ฝึกมานานหรือยัง

ฝีกมาประมาณ 2 ปี โดยฝึกตั้งแต่เกิดเพราะโรงเรียนเพาะสุนัขเองด้วย ตั้งแต่เกิดก็จะเริ่มดูเลย

สุนัขนำทางต่างจากสุนัขทั่วไปอย่างไร

จากการหาข้อมูลจากศูนย์ฯก็พบว่า การคัดเลือกสุนัขนั้นละเอียด สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคข้อ มีการประเมินที่ละเอียดมาก สุนัขที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ก็คัดสรรมาแล้วว่าสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน หรือลูกสุนัขที่เกิดมาก็ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะเป็นสุนับนำทางได้ บางตัวก็ยังไม่ได้ มีความสุขุม นิ่ง สามารถอยู่กับคนได้ไม่แตกตื่นเสียงดัง

ผู้ที่จะใช้สุนัขนำทางต้องมีอายุเท่าใด ฝึกนานแค่ไหน

เท่าที่ทราบตอนที่ไปรับสุนัขนำทางขณะนั้นมีหลายคน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ 16 ขวบ ไปจนถึงรุ่นคุณตาคุณยาย ซึ่งคาดว่าต่ำสุดอายุน่าจะราว 15 - 16 ปี เนื่องจากผู้ใช้สุนัขนำทางจะต้องสามารถดูแลสุนัขได้ด้วยตัวเองไม่สามารถให้พ่อแม่หรือคนอื่นดูแลแทนได้ เราต้องสามารถดูแลและรับผิดชอบเขาได้ด้วยตัวเราเอง ซึ่งเมื่อการที่จะไปรับนั้นทางศูนย์มีกฎเกณฑ์หลายอย่างที่เราต้องไปฝึก
ผู้ที่จะใช้สุนัขนำทางต้องใช้เวลาฝึกนานแค่ไหน

ใช้เวลาในการฝึกประมาณ 3 สัปดาห์ ตั้งแต่การเริ่มเดินทางกับลูเต้อร์ เช่นเราต้องยืนอย่างไร จับบังเหียนอย่างไร ออกคำสั่งอย่างไร ถ้าเขาทำผิดพลาดต้องทำอย่างไร ออกคำสั่งอย่างไร ขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ขึ้นลิฟต์ จากนั้นคือการดูแล ให้อาหาร หวีขน เก็บอึ โดยดูแลทำเองทั้งหมด และขั้นตอนการไปดูสถานที่หรือที่พักก็เพื่อที่จะเลือกสุนัขที่เหมาะสมกับเราด้วย แต่หากเขารับแล้วก็จะประเมินเราแล้วว่า เราสามารถดูแลสุนัขได้

การดูแลควบคุมสุนัขจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่

อาจจะต้องรู้บ้าง เพราะคำสั่งพื้นฐานจะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ยากมาก เช่น Left (ซ้าย) Right (ขวา) Forward (ไปข้างหน้า) Set แต่ก็จะมีคำสั่งที่เฉพาะเจาะจงที่มีคำสั่งให้ฝึก เช่น to The Door หาประตู ,To The Step หาขั้นบันได โดยส่วนหนึ่งเป็นคำสั่งที่ทางโรงเรียนฝึกมาแล้ว เพราะเมื่อเรารับสุนัขมาแล้วไม่ใช่ว่า การเรียนรู้จะจบตรงนั้น แต่เราต้องมาสอนเกี่ยวกับสถานที่ที่เราอยู่จริงเป็นคำสั่งเพิ่มเติม เช่น กรณีลูเต้อร์ คำสั่งที่เราสอนเขาเพิ่มเติมคือ Find The Bin หาถังขยะ เพราะมักจะใช้ในกรณีที่เขาอึ เขาก็จะเริ่มหาได้แล้ว ซึ่งเนื่องจากเป็นคำสั่งใหม่เขาก็จะเริ่มใช้ภาษาไทยได้ เช่น Find ถังขยะ เพราะเป็นคำสั่งใหม่แล้ว ซึ่งการใช้สุนัขนำทางต้องใช้การฝึกหลาย ๆ รอบ ๆ ฝึกซ้ำ เพราะกว่าลูเต้อร์จะรู้ว่าถังแบบไหนคือถังขยะ ต้องฝึกเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ก็ยังต้องฝึกไปเรื่อย ๆ เพราะหาแค่ถังอย่างเดียวก็จะง่ายหน่อยแต่หากเป็นถังขยะเขาก็จะไม่รู้ก็ต้องฝึกเยอะหน่อย

ลูเต้อร์ฟังได้กี่ภาษา

ในการออกคำสั่งทั่วไป จะใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถูกฝึกมาและทรายเองก็ชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในการออกคำสั่ง และน้ำเสียงในการออกคำสั่งจะต้องใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น หรือ เมื่อทำถูกเราต้องใช้น้ำเสียงที่ดีใจ ตื่นเต้น

มุมมองของคนในสังคมสำคัญมากแค่ไหน

ในต่างประเทศจะค่อนข้างเข้าใจ และยิ่งในต่างประเทศจะชอบสุนัขมากๆ คือสามารถเล่นได้ แต่ต้องเป็นเวลา ต้องได้รับอนุญาตจากเราก่อน

การตั้งศูนย์ฝึกสุนัขนำทางในไทยจำเป็นแค่ไหน

ในระยะยาวควรที่จะมี แต่การตั้งศูนย์ฝึกสุนัขนำทางค่อนข้างยาก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ในการฝึกสุนัขนำทางสักตัวมันเยอะมาก มีคนหลายคนที่แนะนำว่า นำสุนัขจรจัดมาฝึกได้มั้ย หรือ ให้ทหารหรือตำรวจที่เคยฝึกสุนัขตำรวจมาฝึกได้มั้ย หรือนำสุนัขตำรวจมาฝึกได้มั้ย

อยากบอกว่า การฝึกสุนัขนำทางนั้นค่อนข้างยากกว่า เพราะต้องฝึกการนำทางและการเข้าสังคม ต้องเข้าสังคมได้อยู่กับคนได้ ไม่ตื่นเสียง รู้ว่าไม่ควรอึ-ฉี่ในบ้าน มีรายละเอียดเยอะมาก ละเอียดอ่อน ซับซ้อนมากๆ

ศูนย์ฝึกสุนัขนำทางที่ใกล้กับไทยมีที่ไหนบ้าง

มีที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ที่อยากได้สุนัขนำทางอย่างไร

ต้องสามารถเดินทางได้ด้วยตัวเอง ดูแลตัวเองได้ และต้องรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ข้อดีคือเรามีเพื่อนคู่ใจ แต่ในอีกมุมก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องให้อาหาร ดูแลสุขภาพ การมีสุนัขนำทางทำให้เรามีความคาดหวังในการดูแลเมื่อเราไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นด้วย เพราะเมื่อเรามีสิทธิ์ที่จะไปยังสถานที่ต่าง ๆ เขาก็จะคาดหวังว่าสุนัขเราจะมีระเบียบวินัย ไม่มีโรค แม้แต่เมืองนอกแม้ว่าจะมีโรงเรียนหรือศูนย์สุนัขนำทางจำนวนมากแแต่ผู้พิการที่ใช้สุนัขนำทางก็ยังเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ยังใช้ไม้เท้า

 

ขั้นตอนพาสุนัขนำทางมาไทยยากหรือไม่

เบื้องต้นคือให้สัตวแพทย์ออกเอกสารรับรองว่า ฉีดวัคซีนครบ ไม่มีโรค แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นสุนัขนำทาง แต่เป็นกรณีเช่นเดียวกับการที่ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงต้องทำในการนำสัตว์เลี้ยงเข้า - ออกประเทศว่าต้องผ่านตรงนี้ นอกจากนี้ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากกว่าคนอื่น เพราะการขึ้นเครื่องบินลูเต้อร์สามารถขึ้นกับเราได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามกฎหมายสากล

การใช้ชีวิตในไทยเหนื่อยมั้ย

จริงๆ เราแค่อยากใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปไม่ได้อยากให้คนหรือสถานที่ให้สิทธิพิเศษ มาอำนวยความสะดวกที่พิเศษกว่าคนอื่น แค่อยากให้ไปสถานที่แบบที่ไม่ถูกห้าม อยากให้เป็นความปกติ ไม่ต้องมี รปภ.มาคอยห้าม คนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ดี แม้บางสถานที่จะอนุญาตแต่เมื่อเราจะเข้าไป รปภ.ก็จะเข้ามาบอกให้หยุดก่อน เพราะอาจไม่รู้

ปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้แก้ไข

จริงๆ แล้วโดยหลักแค่อยากได้สิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นในการเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องการอำนวยความสะดวก แค่อนุญาตให้เราเข้าถึงสถานที่ต่างๆ แต่สำหรับผู้พิการสำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงการศึกษาและการเข้าถึงงาน เพราะเรารู้สึกว่าอยากให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองได้

การศึกษาควรปรับปรุงอย่างไร

ตามกฎหมายทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ยังไม่ได้มีการบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง เช่น ผู้พิการทางสายตาแม้ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารรับได้เพราะยังไม่มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้พิการซึ่งหากเป็นต่างประเทศ กรณีเช่นนี้ทางมหาวิทยาลัยอาจถูกฟ้อง แต่เมื่อสามารถปฏิเสธได้ก็จะไม่มีความพยายามที่จะทำให้เด็กคนนั้นสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยและรัฐบาลควรจะมีหน่วยงานที่รองรับ โดยที่ต่างประเทศที่จะสำนักงานที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้พิการโดยเฉพาะ ไม่ว่าผู้พิการจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรก็ตาม ซึ่งของไทยส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยกันเฉพาะเช่นอาจารย์ หรือเพื่อนนักเรียน

 

 

ด้านการทำงานควรเป็นอย่างไร

เคยได้ยินว่า ในการหางานก็เคยได้ยินว่าบางครั้งก็จะถูกปฏิเสธ ไม่รับ เพราะบอกว่าผู้พิการทางสายตาทำงานไม่ได้ ทำให้ผู้พิการหางานยากและกลายเป็นว่าสังคมมาตัดสินว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ ไม่ให้โอกาสเราในการพิสูจน์ตัวเอง

วางแผนอนาคตตัวเองต่อไปอย่างไร

จากนี้ไปก็จะกลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท ด้านจิตวิทยาด้านการให้คำปรึกษาที่ สหรัฐฯอเมริกา โดยจะกลับไปในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่าจะไปเรียนประมาณ 3 ปี เรียน 2 ปีและฝึกงานอีก 1 ปี

 

ภาพ : ผาณิต ฆาตนาค 

เรื่อง : เฉลิมพล แป้นจันทร์  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง