ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไม! ต้องคุมความเร็วรถพยาบาล

สังคม
19 เม.ย. 62
16:26
3,215
Logo Thai PBS
ทำไม! ต้องคุมความเร็วรถพยาบาล
สธ.แจงปมจำกัดความเร็วรถพยาบาล 80 กม./ชม. พบ 4 ปี อุบัติเหตุรถฉุกเฉิน 110 ครั้ง บุคลากรเสียชีวิต-บาดเจ็บ 318 คน ยืนยันระบบรถส่งต่อผู้ป่วย อุปกรณ์พร้อม ไม่ต้องขับเร็ว ระบุ รถมูลนิธิขับเร็ว

กรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาตรการจำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ผู้โดยสารรวมพนักงานขับไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และห้ามทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ ทุกคันต้องติดอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิด พร้อมห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องส่งผู้ป่วยล่าช้า อาจทำให้ไม่ทันการในการรักษา

วันนี้ 19 เม.ย.62 นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่า หลักการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลนั้น คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ แพทย์เจ้าของไข้จะทำการประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต คาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงขณะนำส่งถึงโรงพยาบาลปลายทาง และการเปิดไซเรนหรือไฟฉุกเฉินเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่าภายในรถมีผู้ป่วย

รถพยาบาลยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก และใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หากใช้ความเร็วสูงแรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรง ทำให้เกิดโอกาสการเสียชีวิตได้มาก

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับการให้หยุดรถพยาบาลในจุดที่ปลอดภัยเพื่อทำหัตถการนั้น เนื่องจากการทำหัตถการขณะรถวิ่ง พยาบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องปลดเข็มขัดนิรภัยมาทำหัตถการ ทำให้บุคลากรของเราอยู่ในความเสี่ยง จึงมีนโยบายให้รถพยาบาลทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัย

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ข้อมูลรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะปฏิบัติการนำส่งผู้ป่วยที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบว่าส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

ประกันรถพยาบาล พบสถิติ 4 ปี อุบัติเหตุ 110 ครั้ง 

ข้อมูลในปี 2559-2562 เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 คน เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 คน เสียชีวิต 4 คน พิการ 2 คน ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 คน เสียชีวิต 3 คน คู่กรณีเสียชีวิต 14 คน ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้่ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสาร หากเสียชีวิตหรือทุพลภาพถาวร เป็นคนละ 2,000,000 บาท เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประกันภัยแบบเดิมคุ้มครองผู้โดยสารเพียง 5 ที่นั่ง คนละ 1,000,000 บาท 

ไม่ต้องขับเร็ว "รถฉุกเฉิน" พร้อมรองรับผู้ป่วย

 

นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวว่า การไปช่วยเหลือผู้ป่วยในที่เกิดเหตุจะมีศูนย์สั่งการโดยพิจารณาว่าเหตุที่เกิดขึ้นต้องใช้รถฉุกเฉินระดับใดไปรับตัวผู้ป่วย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.รถฉุกเฉินขั้นสูง (ALS) ที่มีแพทย์ พยาบาล ประจำ และอุปกรณ์พร้อม 2.รถฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน (BLS) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในการกู้ชีพไปด้วย และ 3.รถกระบะ ที่มูลนิธิต่างๆ (FR) ซึ่งจะมีการควบคุมเวลาว่าจะต้องไปให้ถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที 

รถที่มีแพทย์เจ้าหน้าที่ออกไปด้วยไม่มีความจำเป็นต้องขับเร็ว เพราะมีการทำระบบห้องฉุกเฉินไปกับรถอยู่แล้ว จึงมีการช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ไปถึงจุดเกิดเหตุ

ส่วนกรณีที่มีการขับเร็วส่วนใหญ่จะเป็นรถของมูลนิธิต่างๆ ที่ผ่านมาได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่มูลนิธิให้มีความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาล และหากประเมินอาการคนไข้แล้วจำเป็นต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูง ก็จะให้เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลและรอ แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่รอ นำคนไข้ขึ้นรถไปเลย

เจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่ได้รับการอบรมจะรีบนำคนไข้ขึ้นรถทันทีโดยไม่มีการปฐมพยาบาลทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องรีบ แต่หากดูแลคนไข้เบื้องต้น ตั้งแต่จุดเกิดเหตุและระหว่างนำส่ง ก็ไม่ต้องขับรถเร็ว

เมื่อมีการดูแลตั้งแต่ที่เกิดเหตุแล้ว การขับรถเร็วนั้นไม่จำเป็น ซึ่งการขับเกิน 80 กม./ชม.และฝ่าไฟแดง ล้วนเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น การรีบและต้องการถึงให้เร็วขึ้น 5-10 นาที ไม่มีผลต่อชีวิตของคนไข้ ถ้ามีการดูแลเหมาะสมตั้งแต่แรก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง