วันนี้(11 ธ.ค.2561) กรณีช้างโยโย่ บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ออกมาหากินบนถนนทางขึ้นอุทยาน โดยมีอาการตกมัน เข้าใกล้รถนักท่องเที่ยวและรื้อค้นข้าวของท้ายรถ จนเจ้าหน้าที่ต้องออกมาเตือน ระมัดระวัง ฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดหากเจอช้าง เนื่องจากเป็นช่วงที่ฤดูผสมพันธ์ุของสัตว์ป่า
โดยเฟชบุุ๊ก Bossney Wisamon ระบุว่าทักปุ๊ป เจอป้ั้ปและเป็นภาพช้างป่าขนาดใหญ่ กำลังค้นและนำสิ่งของที่ใส่มาในรถกระบะออกมา และเดินไปค้นตามรถนักท่องเที่ยวที่จอดติดกันหลายคัน โโยมีคลิปที่เห็นช้างตัวใหญ่ในระยะประชิดอย่างชัดเจนเกือบ 4 นาที

ไทยพีบีเอส จึงรวบรวมอีกครั้งว่า ถ้าเจอช้าง ในเขตอุทยานเเห่งชาติเขาใหญ่ จะต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นคำเเนะนำที่กรมอุทยานเเห่งชาติสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวเเพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานเเห่งชาติสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืช บอกว่ามีแนวปฏิบัติ 10 ข้อที่ควรปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าเขาใหญ่ โดยถ้าหากพบว่าช้างอยู่ที่ถนนให้หยุดรถดูท่าที หากพบว่าหูกาง หางชี้ให้อยู่ห่างๆ

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
3.งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก
4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์

สังเกตอาการช้าง-ดับเครื่องยนต์
5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
6.ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้
7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
8.ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ
9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ
10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง
ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เขาจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนนักท่องเที่ยวระวัง "ช้างป่าเขาใหญ่"ตกมัน