ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 หนุนประชาชนร่วมกำหนดอนาคต

การเมือง
28 พ.ย. 61
18:30
2,152
Logo Thai PBS
การเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 หนุนประชาชนร่วมกำหนดอนาคต
นักการเมือง เห็นพ้องนโยบายรัฐต้องใช้จุดแข็งของไทย เป็นต้นทุนขับเคลื่อนประเทศ พร้อมใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัล

เวทีเสวนา เรื่อง "การเมืองไทยกับการสร้างคนไทยศตวรรษที่ 21" จัดโดยคณะทำงานเครือข่ายสื่อมวลชน คณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สถานีไทยพีบีเอส มีนักการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ อาทิ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.), รศ.โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.), ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

รู้เขา-รู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ

นายนิกร กล่าวว่า การปรับตัว 80 ปีนับจากนี้ ต้องยึดหลักซูนวู คือ “รู้เขา-รู้เรา” ประเด็นแรก คือ “รู้เรา” ต้องรู้จักความเป็นไทย โดยเฉพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่จะใช้สานสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ รวมถึงรู้จักใช้ต้นทุนที่มี เช่น น้ำ-ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ในการแข่งขัน ไม่ใช่ฝันถึงแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ไทยเราเป็นศูนย์กลางอาเซียน และโลกก็กำลังสนใจอาเซียน เราจึงมีโอกาสในการพัฒนา

 

ประเด็นที่ 2 คือ “รู้เขา” รู้จักเพื่อนบ้านและประเทศในเอเชีย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าไทยไม่ใช่ประเทศหลักในการประดิษฐ์นวัตกรรม (Main Steam) แต่ไทยแข่งขันได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านั้น เช่น คนไทยผลิตรถยนต์เองไม่ได้ แต่ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ได้ ดังนั้นนวัตกรรมเหล่านี้เหมือนเป็นยานพาหนะ ที่เราต้องรู้จัก “ขี่” เพราะถ้ามัวคิดค้นและพลักดันด้วยตนเองจะพัฒนาช้า 

ห่วง 4.0 เราจะขี่มัน หรือให้มันขี่เรา

สรุปไทยต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการแข่งขั้นและกุมพื้นที่อาเซียนไว้ ที่สำคัญการเมืองต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนที่ดีและเป็น “ผู้นำ” ไม่เช่นนั้นคนที่อยู่ในประเทศจะเดือดร้อน นอกจากนี้ต้องลดความขัดแย้ง เช่น คววามขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของนายทุนและประชาชน หลังจากนี้ต้องปรองดอง เพราะไทยติดกับดับความขัดแย้งมานานกว่า 10 ปี

คนรุ่นใหม่ต้องเป็น “เจ้าของอำนาจ”

รศ.โภคิน กล่าวว่า การปรับตัวสู่ยุคใหม่ นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ต้องเลือก และระบุให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นเจ้าของอำนาจประเทศ แม้รัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ตั้งแต่หลัง ปี 2475 ว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่การยึดอำนาจทุกครั้ง ผู้ยึดอำนาจจะอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ดังนั้นการก้าวสู่ยุคใหม่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ

ขณะที่ปัจจุบันไทยติดปัญหาการเมืองไม่มั่นคงและการบริหารไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาคือแก้ไขเรื่องอำนาจ โดยคนรุ่นใหม่ต้องเลือก ว่าจะเป็นเจ้าของอำนาจหรือให้คนอื่นเป็น "เจ้านาย" แล้วตนเองเลือกเป็น "ผู้รับใช้" นอกจากนี้จะต้องเลือกว่าจะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง หรือจะปล่อยผู้มีอำนาจมาเปลี่ยนเรา

 

ทั้งนี้สังคมไทยติดกับดัก "อำนาจนิยม" ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นมาก จากเดิมคนยึดอำนาจแค่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง แต่วันนี้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลกลายเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย

รัฐธรรมนูญที่เขียนมากกว่า 200 มาตรา แพ้มาตรา 279 มาตราเดียว

อ่านเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ดังนั้นการแก้ไขจริยธรรมหรือคุณธรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการแก้ไข "การโกงอำนาจประชาชน" ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำคัญว่าประชาชนจะเลือกพรรคไหน แต่สำคัญว่าจะช่วยกัน ไม่ให้มีการโกงอำนาจอย่างไร

ไทยติดระบบ "บุญคุณ" กระทบผลประโยชน์ชาติ

ศ.กนก กล่าวว่า ประเทศไทยติดระบบ "บุญคุณ" วิธีแก้ต้องสร้างแบบจำลองให้นักเรียนทดสอบการตัดสินใจระหว่าง "บุญคุณ" แลกกับ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เราจะทำอย่างไรให้เดินหน้าทั้งสองอย่างได้ แต่ไม่เสียประโยชน์ประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นการตัดสินใจจากคุณธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

อยากเห็นคุณธรรมเป็นอัตลักษณ์คนไทย ใช้คุณธรรมตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะสถานการณ์ เชื่อว่าจะช่วยรักษาบ้านเมืองไว้ได้

 

ทั้งนี้ การพัฒนาคนไทยในศตวรรษที่ 21 คือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงค้นหา "วิถีประชาธิปไตย" ที่เข้ากับสังคมไทย โดยเน้นการแก้ไข 3 ปัญหา คือ 1.ความยากจน 2.ความไม่รู้ และ 3.ความขัดแย้ง

เราไม่มีเวลาแล้ว ต้องเลิกทะเลาะกัน การเมืองต้องไม่ต่อสู้หรือแข่งขันด้วยวิธีที่ไม่สร้างสรรค์

ข้อสรุปจากการแสดงวิสัยทัศน์ของตัวแทนนักการเมือง คือการเน้นถึงความสำคัญของการเมืองที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นกลไกที่สำคัญคือการปลดล็อกการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง